ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรงพยาบาลเสาไห้เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จังหวัดสระบุรี ใช้หลักศาสตร์พระราชาดูแลสุขภาพปชช. ดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังกว่า 800 ราย หยุด/ปรับลดยาเบาหวาน-ความดัน ช่วยผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี  พร้อมยกระดับบริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งเสริมการสร้างเศรษฐกิจสุขภาพ ให้มีแหล่งสมุนไพรในชุมชน

วันนี้ 21 มิถุนายน 2567 ที่ โรงพยาบาลเสาไห้เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จังหวัดสระบุรีศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ในฐานะรองประธานกรรมการมูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล พร้อมด้วย นายวัชรพล โตมรศักดิ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข คณะผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจเยี่ยมและติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาล พร้อมให้กำลังใจบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน และมอบของเยี่ยมให้กับผู้ป่วยที่มารับบริการ

นายวัชรพล โตมรศักดิ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรงพยาบาลเสาไห้เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา เป็นโรงพยาบาลชุมชนที่ดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่กว่า 27,000 คน ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติฯ SDG คือ 1.โรงพยาบาลเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficient Economy & Sustainable Hospital) เน้นการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ ขจัดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ด้วยศาสตร์พระราชาและการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย

โดยจัดตั้งโครงการขจัดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มีผู้ป่วยในโครงการ 849 ราย สามารถหยุด/ปรับลดยาเบาหวานได้ 79 ราย หยุด/ปรับลดยายาลดความดันโลหิตสูงได้ 13 ราย ช่วยประหยัดงบประมาณค่ายาได้ 16,936.73 บาท ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และยังจัดทำโครงการขจัดวัณโรค คัดกรองกลุ่มเสี่ยง 619 ราย พบผู้ป่วย 11 ราย ติดตามผู้ป่วยให้มาตามนัด และกินยาสม่ำเสมอ ส่วนผู้สัมผัสร่วมบ้าน ผู้ใกล้ชิดได้รับการคัดกรอง 100% เช่นกัน ซึ่งหากพบผู้ป่วยจะทำให้ได้รับการรักษาที่รวดเร็ว ด้านการประหยัดพลังงาน มีการติดตั้งโซล่าเซลล์ 144.69 กิโลวัตต์ ลดค่าไฟได้ 60,847 บาท/เดือน

2. ยกระดับบริการสุขภาพด้วยดิจิทัล (Digital Health Transformation) เน้นให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างมีคุณภาพและทั่วถึงด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล มุ่งสู่การเป็น Smart hospital โดยผ่านเกณฑ์ประเมินเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะระดับเพชร มีความพร้อมรองรับโครงการยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ระยะ 3 และ 3.โรงพยาบาลรมณียสถาน (Green Hospital) เน้นคุณภาพมาตรฐาน บริการด้วยหัวใจ และการสร้างสภาพแวดล้อมของโรงพยาบาลให้เป็นรมณียสถาน ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งในและนอกอาคาร

 

นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินงานรองรับนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข อาทิ จัดตั้งทีม SMIV ดูแลผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติดที่มีอาการรุนแรงเข้าสู่การรักษา และมีการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในจังหวัดสระบุรี ช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้การดูแลผู้สูงอายุและผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงด้วยการคัดกรอง 9 ด้าน รวมทั้งส่งเสริมการสร้างเศรษฐกิจสุขภาพในพื้นที่ด้วยพืชสมุนไพร ตั้งแต่ต้นน้ำให้มีแหล่งสมุนไพรในชุมชน (ขมิ้นชัน ไพล ฟ้าทะลายโจร ใบกัญชา) กลางน้ำ ผลิตยาสมุนในโรงผลิตยาสมุนไพรได้ 36 รายการ ปลายน้ำ สนับสนุนนโยบายการใช้ยาสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบันบางรายการ และใช้ยาสมุนไพร ทดแทน ยาปฏิชีวนะ (ฟ้าทะลายโจร ยาเหลืองปิดสมุทร) สามารถสร้างรายได้จากการใช้ยาสมุนไพรได้ 29,572,384 บาท

ส่วนประชาชนนำสมุนไพรที่ปลูกมาใช้ร่วมกับศาสตร์การแพทย์แผนไทย สร้างอาชีพ สร้างรายได้ในครัวเรือนและชุมชน นอกจากนี้ยังได้ดำเนินโครงการโรงพยาบาลสร้างสุขสู่ชุมชน โดยได้รับงบประมาณจากมูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล ในการปรับปรุงบ้านให้ประชาชน จำนวน 3 หลัง ได้แก่ 1.บ้านผู้ประสบเหตุวาตภัย 2.บ้านผู้ป่วยมะเร็ง และ 3.บ้านผู้ป่วยตาบอด