ผอ.รพ.เสาไห้เฉลิมพระเกียรติฯ ฝ่าปัญหาสภาพคล่องด้วยการพึ่งพาตนเอง ดันแพทย์แผนไทยควบคู่แนวทางประชารัฐ สนับสนุนชาวบ้านปั๊มผลผลิตทางการเกษตรออร์แกนิก ยกระดับคุณภาพชีวิต-ชุมชน เพิ่มมูลค่า ลดรายจ่ายโรงพยาบาล
นพ.สุวัฒน์ ธนกรนุวัฒน์ ผอ.โรงพยาบาลเสาไห้เฉลิมพระเกียรติฯ จ.สระบุรี เปิดเผยว่า อย่างที่ทราบกันดีว่าในระบบสาธารณสุขเกิดปัญหาเรื่องงบประมาณไม่เพียงพอในบางโรงพยาบาล โดยโรงพยาบาลเสาไห้ฯ ก็เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่ประสบปัญหาเดียวกัน จึงกลับมาคิดหาวิธีการพึ่งพาตัวเองโดยน้อมนำพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปฏิบัติ
ทั้งนี้ โรงพยาบาลมองไปถึงการแพทย์แผนไทยซึ่งเป็นการแพทย์ของชาติไทยซึ่งเรามีกระบวนทัศน์ที่จะทำในมุมมองของการรักษามรดกไทย โดยมองในมิติที่มากกว่าการแพทย์ คือมองว่าหากทำเรื่องนี้ได้เท่ากับเป็นการทดแทนคุณแผ่นดิน และเป็นการทำหน้าที่เพื่อส่วนรวมให้ยั่งยืนตามที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสอน
นพ.สุวัฒน์ กล่าวว่า นอกจากจากชดเชยเรื่องยาที่ต้องนำเข้าแล้ว เราก็ควรที่จะสามารถผลิตยาได้เอง จึงได้ทำเรื่องของโรงผลิตยาขึ้นมา ซึ่งขณะนี้สามารถผลิตยาสมุนไพรได้มากถึง 50-60 ตัว สามารถใช้ทำแทนยาแผนปัจจุบันได้หลายรายการ
"เรามีโรงผลิตยาสมุนไพร 1 โรง โรงผลิตเวชสำอางอีก 1 โรง และขณะนี้กำลังขึ้นโรงสมุนไพรอีก 1 โรง โดยทำให้รูปแบบของประชารัฐ ซึ่งจะเชื่อมต่อไปยังเกษตรกร ยกตัวอย่างเช่นชาวนา แทนที่เขาจะปลูกข้าวเพื่อขายอย่างเดียว เราก็นำข้าวเหล่านั้นมาเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ด้วย" นพ.สุวัฒน์ กล่าว
นพ.สุวัฒน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับชุมชนในการปลูกพืชสมุนไพรเพื่อนำมาเป็นยารักษาโรคในกลุ่มยาแพทย์แผนไทย อย่างขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร ก็รับซื้อสมุนไพรจากชาวบ้าน และนำมาผลิตเป็นแคปซูลยาสำหรับรักษาโรค รวมทั้งโรงพยาบาลยังรับซื้อข้าวจากชาวนา นำมาแปรรูปเป็นเวชสำอาง ยาสระผม สบู่ สครับขัดผิว
"การสนับสนุนเช่นนี้ก็ทำให้เกษตรกรมีทางเลือกมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเรามีคอนเซ็ปว่าต้องเป็นออแกนิก ถ้ามีสารเราไม่รับซื้อ ตรงนี้ก็ทำให้ดิน ทำให้สิ่งแวดล้อม ทำให้คุณภาพชีวิตและสุขภาพของเขาดีขึ้นตามไปด้วย แล้วก็จะขยายวงออกไปเรื่อยๆ" นพ.สุวัฒน์ กล่าว
นพ.สุวัฒน์ กล่าวว่า เมื่อแนวคิดนี้กระจายออกไปหลายครัวเรือน ชุมชนก็จะยกระดับคุณภาพชีวิตขึ้นมา เจ็บป่วยน้อยลง ก็จะเป็นภาพของชีวสังคมคือสังคมเกิดการรวมกลุ่มเพื่อทำงานร่วมกัน ซึ่งจะยังให้เกิดประโยชน์ในระยะยาว
นพ.สุวัฒน์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้รายจ่ายเรื่องยาในบางประเภทลดลงเป็นจำนวนมาก เช่น ยาแก้ปวด ยาโรคกระเพาะ ยาลดไข้ ยาแก้เจ็บคอ จะใช้ยาสมุนไพรทดแทนได้มาก และแนวโน้มคือปริมาณการใช้ยาสมุนไพรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
"ในส่วนของปลายน้ำนั้น ปัจจุบันโรงพยาบาลไม่สามารถขายยาสมุนไพรได้ ซึ่งตรงนี้หากรัฐดำเนินการแก้ไขกฎหมาย เปิดช่องให้โรงพยาบาลสามารถผลิตได้ควบคู่กับการรักษา จะก่อให้เกิดมูลค่าการใช้สมุนไพรมากขึ้น แล้วจะย้อนกลับมาช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่องของโรงพยาบาลด้วย เมื่อโรงพยาบาลสามารถทำภาคการผลิตและจำหน่ายได้ มันก็จะย้อนกลับมาดูแลภาคบริการต่อไป" นพ.สุวัฒน์ กล่าว
- 133 views