กรมควบคุมโรคแจงเหตุผู้ป่วยหญิงไทยกลับเมียนมาติดโควิด พบเข้าปท.ไร้กักตัว เร่งหาข้อมูลเข้าประเทศ ชี้กรณีลักลอบเข้าไทยมักได้ข้อมูลไม่ตรงไปตรงมา
วันที่ 28 พฤศจิกายน ที่กรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป แถลงกรณีการพบหญิงไทย อายุ 29 ปี ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่จ.เชียงใหม่
นพ.โสภณ กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าวทางสำนักงานป้องกันและควบคุมโรค(สคร.) ที่ 1 จ.เชียงใหม่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) เชียงใหม่ เข้าไปสอบสวนโรคเพื่อค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิด พบว่า มีผู้สัมผัสใกล้ชิดรวมทั้งหมด 326 ราย แบ่งเป็นกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 105 ราย ได้แก่ 1.ผู้สัมผัสในชุมชน 65 ราย เป็นผู้พักร่วมคอนโดกับผู้ป่วย 2 ราย คอนโดเพื่อน 2 ราย ห้างสรรพสินค้า 6 ราย ขณะนี้รอติดตามมาตรวจ และสถานบันเทิง 55 ราย กำลังรอผลตรวจ 2.ยานพาหนะ 40 ราย จาก จ.เชียงราย 35 ราย เป็นผู้เดินทางข้ามแดนมาด้วยกัน 1 ราย รถตู้รอติดตาม และรถโดยสาร 34 ราย รอผลตรวจ จาก จ.เชียงใหม่ 5 ราย เป็น รถ Grab Car ทั้งหมดอยู่ระหว่างรอติดตามมาตรวจ
นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า กลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 149 ราย ได้แก่ 1.ผู้สัมผัสในชุมชน 140 ราย เป็นสถานบันเทิง 2 ราย รอผลตรวจ และห้างสรรพสินค้า 138 ราย รอติดตามมาตรวจ 2.บุคลากรทางการแพทย์ 9 ราย ในโรงพยาบาล(รพ.) นครพิงค์ รอติดตามมาตรวจ และ กลุ่มผู้สัมผัสอื่นๆ 72 ราย เป็นผู้อยู่ร่วมคอนโดกับผู้ป่วยทุกรายอยู่ในระหว่างรอติดตามมาตรวจเชื้อ
"ขณะนี้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอยู่ในระบบแล้ว โดยผู้ที่อยู่ในรายชื่อหรืออยู่ในระบบที่ สสจ.เชียงใหม่ได้ติดตามไป ขอให้สังเกตอาการตนเอง สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างจากผู้อื่นและล้างมือเป็นบ่อย ๆ เพื่อความปลอดภัย ในกรณีที่สงสัยหรือกังวลก็สามารถเข้าไปรับการตรวจที่โรงพยาบาลใกล้บ้านได้ และต้องขอชื่นชมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน จ.เชียงใหม่และเชียงราย ที่ได้มีการเริ่มสอบสวนและติดตามผู้สัมผัสตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน โดยใหญ่ได้รับการแจ้งข้อมูลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว" นพ.โสภณ กล่าว
นพ.โสภณ กล่าวว่า ความเสี่ยงในการแพร่โรค คือช่วงก่อนที่จะรู้ตัวว่าติดเชื้อใน ช่วงระหว่างวันที่ 24 - 26 พฤศจิกายน อย่างไรก็ตามผู้ป่วยมีอาการสำคัญที่เข้าได้กับโรคอย่างเห็นได้ชัดคือจมูกไม่ได้กลิ่น ร่วมกับถ่ายเหลวเล็กน้อย โดยไม่มีอาการไอหรือจาม และอุณหภูมิร่างกายไม่สูง จึงทำให้ผู้ป่วยไม่ได้สงสัยว่าตนติดเชื้อหรือไม่ อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีปริมาณเชื้อที่ไม่มากและไม่น้อย แต่มีโอกาสแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นน้อย เพราะไม่ได้ไอ จาม โดยกรณีนี้คาดว่าเป็นการติดเชื้อมาจากต่างประเทศ เนื่องจากช่วงเวลาของการรับเชื้อค่อนข้างสั้น ซึ่งหากเป็นการติดเชื้อภายในประเทศก็จะต้องมีปริมาณเชื้อที่ค่อนข้างมากพอสมควร
"ผู้ที่มีโอกาสได้รับเชื้อมากที่สุดคือผู้ที่มีการแลกเปลี่ยนน้ำลายกับผู้ป่วยโดยตรง เช่น น้ำลายกระเด็น สูบบุหรี่หรือดื่มเหล้าแก้วเดียวกันในผับ ทั้งนี้ในส่วนของพื้นที่ได้ทำการทำความสะอาดสถานที่เหล่านั้นแล้ว แต่เป็นการลักลอบหรือไม่นั้นต้องให้ทางพื้นที่เป็นผู้สรุปข้อมูล เรารับทราบเส้นทางเพียงว่าเดินทางเข้ามาจากเชียงรายและมายังเชียงใหม่" นพ.โสภณ กล่าว
ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า ในกรณีนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นการเดินทางเข้าประเทศมาด้วยวิธีใดหรือช่องทางใด ซึ่งจะต้องให้ฝ่ายจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการให้ข้อมูลในส่วนนี้เอง แต่อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ที่เป็นการลักลอบเข้าเมืองมานั้น ในการสอบสวนโรคมักจะได้ประวัติที่ไม่ตรงไปตรงมา เนื่องจากเป็นการเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายร้ายแรง ซึ่งจะต้องดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมายทุกประการ ไม่มีการละเว้น ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบเข้าเมือง หรือ พระราชบัญญัติโรคติดต่อ
"เหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นอีกหลายครั้งเพราะฉะนั้นถ้าพี่น้องประชาชนช่วยกัน ผู้ที่เป็นเจ้าของบ้านเจ้าของคอนโด เฝ้าระวังคนที่เข้ามาจากต่างประเทศ และไม่ได้เข้ารับการกักกันตัวอย่างถูกต้อง ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที เพราะ เป็นอันตรายต่อตนเอง ชุมชน สังคมและประเทศไทย" นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ช่วงนี้เป็นช่วงเริ่มต้น และยังอยู่ในระยะฟักตัวของโรค ซึ่งมีโอกาสพบผู้ป่วยเพิ่มเติมได้ ดังนั้นจะต้องเร่งสอบสวนและควบคุมโรคโดยเร็ว และประชาชนในพื้นที่จะต้องให้ความร่วมมือในการเฝ้าสังเกตอาการของตนเอง ประการสำคัญคือ ผู้ป่วยได้สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือไม่ แต่จากการสอบสวนโรค พบว่าส่วนใหญ่จะสวมหน้ากากแต่จะไม่สวมในเวลารับประทานอาหารและเข้าไปในสถานบันเทิง และประการสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือผู้อื่นสวมใส่หน้ากากหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะต้องเก็บข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อประเมินสถานการณ์อีกครั้ง
- 5 views