ผศ.ดร. ศวรรยา เลาหประภานนท์ สำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กับข้อคิดเห็นบุหรี่ไฟฟ้า
ปัจจุบันมีจำนวนเยาวชนใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะหลงคำชวนเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีความปลอดภัยทางสุขภาพมากกว่าบุหรี่ธรรมดา สามารถใช้เป็นเครื่องมือช่วยเลิกบุหรี่ได้ แต่ในความเป็นจริง การสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีรายงานว่าทำลายระบบทางเดินหายใจ ปอดได้อย่างฉับพลัน ที่เรียกว่าภาวะอิวาลี (EVALIย่อมาจาก E-cigarette or Vaping Product Use-Associated Lung Injury) ซึ่งเป็นภาวะปอดอักเสบรุนแรงฉับพลัน โดยข้อมูลล่าสุดของศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา (CDC) เดือนพฤศจิกายน 2562 เผยว่ามีชาวอเมริกันเสียชีวิตด้วยภาวะอิวาลีจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าถึง 48 ราย และป่วย 2,291 ราย ซึ่งในเวลาไล่เลี่ยกันนั้นได้มีการพบผู้ป่วยภาวะดังกล่าวในประเทศไทยพบเป็นรายแรกเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีรายงานการระเบิดของตัวอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้าทำให้ผู้สูบได้รับบาดเจ็บ สูญเสียอวัยวะ หรือตายจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าให้เห็นได้บ่อยขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่พบในการสูบบุหรี่แบบปกติ 1
การระเบิดของตัวบุหรี่ไฟฟ้านั้น สืบเนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้ามีการนำเอาวงจรอิเล็กทรอนิกส์และแบตเตอรี่มาใช้ในการสร้างพลังงานความร้อนสำหรับการผลิตไอระเหยแทนการเผาไหม้ และการผลิตอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐานหรือการดัดแปลงบุหรี่ไฟฟ้าใช้เองมีความเสี่ยงในการเกิดไฟฟ้าลัดวงจรและเกิดระเบิดขึ้นได้
ขณะที่ผลการสำรวจในหลายๆ งานวิจัยที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าบุหรี่ไฟฟ้าสามารถระเบิดได้เองแม้ไม่ใช้ ความร้อนจากเปลวไฟ และสารเคมีลิเทียมไออนจากแบตเตอรี่ทำให้เกิดบาดแผลไหม้ลึกถึงชั้นหนังแท้ได้ เกิดอาการปวดแสบปวดร้อน ซึ่งต้องทำการรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ และพักฟื้นนานหลายสัปดาห์จนกว่าแผลหาย นอกจากนี้บางรายยังพบว่าเกิดระเบิดขณะเปิดสวิตซ์สูบบุหรี่ไฟฟ้า ส่งผลให้ผู้สูบได้รับบาดเจ็บบริเวณมือ ใบหน้าอย่างรุนแรง เกิดแผลฉีกขาดบริเวณปาก จมูกและฟันหัก บางรายเปลวไฟและเขม่าจากการระเบิดทำลายกระจกตาทำให้สูญเสียการมองเห็น รวมทั้งที่ส่งผลกระทบรุนแรงที่สุดคือแรงระเบิดทำให้บุหรี่ไฟฟ้าแตกกระจายเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ ทะลุผ่านช่องปาก กระเด็นไปถูกอวัยวะสำคัญในร่างกายทำให้เกิดการเสียเลือด ช็อค และเสียชีวิต ดังเช่น โศกนาฎกรรมบุหรี่ไฟฟ้าระเบิดที่ทำให้ชายชาวอเมริกัน 2 ราย ต้องเสียชีวิตจากการระเบิดของบุหรี่ไฟฟ้า 2-3
จากข้อมูลข้างต้นสามารถกล่าวได้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นภัยคุกความทางสุขภาพใหม่ของประชาชนในปัจจุบัน แม้ว่าหลายประเทศได้มีประกาศควบคุมไม่ให้มีการผลิตหรือจำหน่ายอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้าแล้วก็ตาม แต่ยังมีนายทุนอีกจำนวนไม่น้อยที่ลักลอบผลิตตัวบุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐานมาวางขายในตลาดมืด โดยมีสี ขนาด และรูปร่างที่หลากหลายเพื่อดึงดูดเยาวชน ดังนั้นเยาวชนหรือผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่ต้องไม่หลงกลคำโฆษณา ไม่ริลองใช้บุหรี่ไฟฟ้า สำหรับผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการเลิกบุหรี่ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพต่อไป เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายฉับพลันอีกทั้งสามารถเกิดการระเบิดได้ทุกที่ทุกเวลา
เอกสารอ้างอิง
1. Rossheim, M. E., et al. (2020). "Electronic Cigarette Explosion and Burn Injuries." Tobacco Regulatory Science 6(3): 179-186.
2. Beining, T., et al. (2020). "Projectile wound to head from modified electronic cigarette explosion." Journal of Forensic Sciences.
3. News, A. E. (2019). "North Texas man killed when e-cig explodes in face: Medical examiner." Retrieved 13 October, 2020, from https://abc13.com/william-brown-e-cigarette-exploded-in-mans-face-north-texas-man-killed-when-e-cig-his/5121700/.
- 3235 views