ศิริราช ประกาศผลผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี63 ได้แก่ศ.ดร.นพ. วาเลนติน ฟัสเตอร์ สาขาการแพทย์ และนพ.เบอนาร์ด พีคูล สาขาการสาธารณสุข
เมื่อวันที่ 12 พ.ย. ที่ตึกสยามินทร์ ชั้น 2 โรงพยาบาลศิริราช ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ฯ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ และศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมแถลงผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 29 ประจำปี 2563 โดยผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประกอบด้วย
- สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศ.ดร. นพ.วาเลนติน ฟัสเตอร์ (Valentin Fuster, M.D., Ph.D.) จากสหรัฐอเมริกา
- สาขาการสาธารณสุข ได้แก่ นายแพทย์เบอนาร์ด พีคูล (Bernard Pécoul, M.D., MPH.) จากสาธารณรัฐฝรั่งเศส
ทั้งนี้ ศ.ดร.นพ.วาเลนติน ฟัสเตอร์ ผู้อำนวยการศูนย์โรคหัวใจ และนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลเม้าท์ไซนาย นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกาผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคหัวใจและหลอดเลือดแห่งชาติ กรุงมาดริด ประเทศสเปน หัวหน้ากองบรรณาธิการ วารสารวิทยาลัยโรคหัวใจแห่งอเมริกาสหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาวิจัยถึงบทบาทของเกล็ดเลือดในกระบวนการเกิดการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงประโยชน์ของการให้ยาต้านเกล็ดเลือดในการป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดที่นำมาใช้เป็นทางเบี่ยงภายหลังจากการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ โดยเริ่มในสัตว์ทดลอง และต่อมาได้ต่อยอดมาเป็นการศึกษาวิจัยในผู้ป่วย ได้แสดงให้เห็นเป็นครั้งแรกถึงประโยชน์ของการให้ยาต้านเกล็ดเลือดในการป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดที่นำมาใช้เป็นทางเบี่ยงภายหลังจากการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจในผู้ป่วย
ศ.ดร.นพ.วาเลนติน ฟัสเตอร์
อีกทั้งองค์ความรู้ที่ได้นี้มีส่วนทำให้เกิดการพัฒนาแนวคิดในการสร้างขดลวดค้ำยันชนิดเคลือบยา เพื่อนำมาใช้ในผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและใส่ขดลวด องค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยของ ศ. ดร.นพ.ฟัสเตอร์ ได้ช่วยทำให้อัตราการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตในผู้ป่วยลดลงอย่างมาก และยังช่วยปรับปรุงให้การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันดีมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
สำหรับ นพ.เบอนาร์ด พีคูล ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการบริหาร องค์กรจัดหายาสำหรับโรคที่ถูกละเลย Drugs for Neglected Diseases initiative (DNDi) สาธารณรัฐฝรั่งเศส ก่อนที่ นายแพทย์พีคูล จะเข้ามามีบทบาทในการจัดตั้งองค์กรจัดหายาสำหรับโรคที่ถูกละเลย (Drugs for Neglected Diseases initiative, DNDi) นั้น นพ.พีคูล เป็นผู้อำนวยการบริหารในองค์กรแพทย์ไร้พรมแดน (Médecins Sans Frontières) ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ที่ก่อตั้งเพื่อให้ความช่วยเหลือในการเข้าถึงยาจำเป็นของกลุ่มประเทศในแอฟริกา ลาตินอเมริกา และเอเชีย โดยพบมีการใช้ยา เมลาโซพรอล (Melarsoprol) ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของสารหนู ในการรักษาผู้ป่วยที่เป็น โรคแอฟริกัน ทริปาโนโซมิเอซิส (African trypanosomiasis) หรือ โรคเหงาหลับ (Sleeping sickness) และพบผู้ป่วย 1 ราย ใน 20 รายที่ได้รับอนุพันธ์นี้เสียชีวิต จากเหตุการณ์ที่มีการขาดยารักษาที่มีประสิทธิภาพและมีผลข้างเคียงที่รุนแรงนี้ ทำให้ นพ.พีคูล ตัดสินใจจัดทำ โครงการจัดหายาสำหรับโรคที่ถูกละเลย (Drugs for Neglected Diseases initiative – DNDi) ขึ้นในปี พ.ศ.2546 โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการรักษาที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ราคาไม่แพง สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคที่ถูกละเลย
นพ.เบอนาร์ด พีคูล
ทั้งนี้ มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2563 ทั้งสิ้น 44 ราย จาก 18 ประเทศ คณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการได้พิจารณากลั่นกรอง และคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ ได้พิจารณาจากผู้ได้รับการเสนอชื่อรวม 3 ปี คือ ปี2563, 2562, 2561 และนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธาน พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2563
อนึ่ง รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี แห่งการพระราชสมภพ 1 มกราคม 2535 ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ 1 รางวัล และด้านการสาธารณสุข 1 รางวัล เป็นประจำทุกปีตลอดมา แต่ละรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัล, ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 100,000 เหรียญสหรัฐ
- 91 views