ปลัดสธ.นั่งประธานประชุมศบค.กระทรวงสาธารณสุข เห็นชอบลดวันกักตัว 10 วัน จาก 14 วัน ระบุเพิ่มโอกาสเสี่ยงเล็กน้อยจาก 0.3 เป็น 1.5 คนประมาณการเข้าไทย 30 ล้านคนจะมีคนติดเชื้อหลุด 300 คนต่อปี ชี้ระบบควบคุมโรครักษารองรับเพียงพอ

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขในสถานการณ์โควิด-19 หรือศบค.สธ.ว่า ที่ประชุมเห็นชอบในการที่จะเสนอศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือศบค.ประเทศ ในการลดวันกักตัวจาก14วันเหลือ 10 วันในประเทศที่มีความเสี่ยง เท่ากับและมากกว่าประเทศไทยเล็กน้อย มีความเป็นไปได้ ส่วนประเทศที่มีความเสี่ยงสูงก็ยังคงกักตัวอยู่ที่ 14 วัน ทั้งนี้ การลดวันกักตัวจะเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งข้อมูลด้านวิชาการ ทางการแพทย์มีรายงานพบว่าการกักตัว 10 วันและ 14 วันไม่แตกต่างกัน จึงเป็นแนวคิดลดวันกักตัวตามความเสี่ยงประเทศ พิจารณาความเสี่ยงเมื่อเทียบกับประเทศไทย ซึ่งประเทศที่ไม่มีความเสี่ยงหรือเสี่ยงเท่ากับไทย โดยหลักการเมื่อเข้ามาก็เหมือนคนไทยที่อยู่ในประเทศเป็นลักษณะ safety to safety ประเทศที่มีความเสี่ยงเท่ากับหรือมากกว่าไทยเล็กน้อยจะอยู่ที่ 10 วัน ส่วนที่มีความเสี่ยงมากกว่าไทยก็ให้เข้าระบบกักตัว อาจจะอยู่ที่ 14 วันเช่นเดิม

“จากที่มีการปรับระบบวันที่ตรวจหาเชื้อในผู้ที่เข้ากักตัวสถานที่กักกันเป็น 3 ครั้ง คือ วันที่ 1-3 ,7-9 และ11 พบว่าผู้ที่ตรวจผลเป็นบวกพบการติดโควิด19จะตรวจเจอในช่วง 10 วันแรกทั้งสิ้น อาจจะมี 1 รายที่เจอหลังวันที่ 10 แต่มีภูมิคุ้มกันขึ้นแล้วแปลว่าติดเชื้อมานานแล้ว เพราะฉะนั้น ภายใน 10 วันหากมีการติดเชื้อก็จะมีการตรวจพบได้ การลดวันกักตัวเหลือ 10 วันจึงสามารถทำได้ โดยโอกาสเสี่ยงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากที่มีคนเดินทางเข้า 1 ล้านคนจะมีคนติดเชื้อที่หลุดจากระบบได้ 1.5 คน จากเดิมถ้ากักตัว 14 วันจะหลุดได้ 0.3 คน หากเป็นประเทศจีนจะน้อยกว่านี้ขึ้นอยู่กับประเทศเสี่ยง” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า ถ้ามีการคำนวณว่าคนเดินทางเข้าไทยราว 30 ล้านคน ก็น่าจะมีคนติดเชื้อหลุดราว 300 คนต่อปีจากที่เข้ามา 30 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่ระบบการป้องกันและควบคุมโรคในการจับตัว หรือตะครุบเพื่อคอวบคุมสถานการณ์ ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในจำนวนนี้ถ้าป่วยหนัก 10 % อยู่ที่ 30 คน ระบบโรงพยาบาลของประเทศไทยสามารถรองรับได้ เพราะฉะนั้นระบบทางวิชาการและวิธีการก็มีความเป็นไปได้ในการลดวันกักตัว อีกทั้ง สิ่งที่พบคือหลัง 10 วัน คนที่ติดเชื้อหลุดจะเป็นคนไข้ที่มีเชื้อค่อนข้างน้อย โอกาสแพร่ก็จะต่ำกว่าทั่วไป และหลังจากวันที่ 10 ก็มีมาตรการในการติดตามตัวเป็นสายรัดข้อมือและเข้าระบบ ไม่ใช่ให้เดินกระจัดกระจายไปไหนก็ได้ ช่วงแรกมีบริษัททัวร์ในการดูแลและติดตามรายนงานหากเกิดกรณีต่างๆ และเมื่อพ้น10 วันแล้วก็จะเดินทางไปได้อย่างน้อยใน 10 จังหวัดที่มีความพร้อม ทั้งการป้องกันควบคุมโรค สถานพยาบาล ประชาชนยอมรับการท่องเที่ยว และประชาชนพร้อมร่วมมือในมาตรการต่างๆที่รัฐบาลจะกำหนดขึ้น เช่น จ. ชลบุรี ภูเก็ต ระยอง เชียงใหม่ เชียงราย บุรีรัมย์ และสุราษฎร์ธานี เป็นต้น