คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบร่างประกาศปรับปรุงการออกหนังสือรับรองการฉีดวัคซีนโควิด 19 เพิ่มรูปแบบเอกสารดิจิทัล อัตรา 50 บาทต่อครั้ง คาดรูปแบบดิจิทัลเริ่มได้ภายใน พ.ย. ส่วนแบบเล่มดำเนินการแล้ว 4 หมื่นราย พร้อมเห็นชอบปรับนิยามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเดินทางโดยเครื่องบิน เป็นผู้นั่งติดกับผู้ติดเชื้อ ไม่สวมหน้ากากนานกว่า 5 นาที ให้ลดกักตัวจาก 14 วันเหลือ 10 วัน ขณะที่ ครม.เห็นชอบนำเข้ายาโมลนูพิราเวียร์
เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 10/2564 ว่า ที่ประชุมเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เรื่องการออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 พ.ศ. ... ซึ่งเป็นฉบับปรับปรุงแก้ไขจากประกาศเดิมที่กำหนดรูปแบบเป็นเอกสารเล่ม โดยฉบับนี้จะเพิ่มในส่วนของวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือดิจิทัล เรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการออกหนังสือรับรองในอัตรา 50 บาทต่อเล่มหรือต่อครั้ง มีผลบังคับใช้วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ส่วนการออกหนังสือรับรองการฉีดวัคซีนนั้น ขณะนี้มีหน่วยงานให้บริการออกหนังสือรับรอง 102 แห่ง ได้แก่ กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค , สถาบันบำราศนราดูร สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กทม. สำนักงานป้องกันควบคุมโรค 7 แห่ง (เชียงใหม่ สระบุรี ราชบุรี ชลบุรี ขอนแก่น อุดรธานี และสงขลา) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป รวม 92 แห่ง มีผู้รับบริการแล้วกว่า 4 หมื่นคน โดยภายในเดือน พ.ย. 2564 จะเริ่มให้บริการหนังสือรับรองในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Certificate) ในบางสถานที่นำร่องก่อนขยายทั่วประเทศต่อไป
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวภายหลังการประชุม ซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 3 เรื่อง คือ 1.ร่างประกาศคณะกรรมการโรคติตต่อแห่งชาติ เรื่องการออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กรณีโรคโควิด19 ซึ่งเป็นการปรับปรุงเพื่อเพิ่มรูปแบบการออกหนังสือรับรองแบบอิเล็กทรอนิกส์หรือดิจิทัล และให้กระบวนการออกหนังสือรับรองง่ายขึ้น โดยกรมควบคุมโรคเข้าถึงข้อมูลจากผู้รวบรวมข้อมูลทั้งใน MOPH IC และหมอพร้อม ประชาชนสามารถขอหนังสือรับรองรูปแบบเอกสารและอิเล็กทรอนิกส์ง่ายยิ่งขึ้น เมื่อออกประกาศแล้วในราชกิจจานุเบกษา จะมีผลบังคับใช้ในวันถัดไป คาดว่ารูปแบบดิจิทัลนี้จะเริ่มได้ในภายในเดือน พ.ย.
2.เห็นชอบกรอบการดำเนินงานรองรับการเปิดประเทศและการระบาดของโรคโควิด 19 ปี พ.ศ. 2565 ด้านสาธารณสุข 4 เป้าหมาย คือ สร้างเชื่อมั่นประชาชน สร้างความมั่นคงทางสาธารณสุข ฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ และการใช้ชีวิตแบบนิวนอร์มอล ผ่าน 5 กลยุทธ์ และ 6 ตัวชี้วัด โดยจะแจ้งคณะกรรมการโรคติตต่อจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครจัดทำแผน และ 3.เห็นชอบตามคณะกรรมการวิชาการเสนอ คือ ลดวันกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกรณีเดินทางโดยเครื่องบิน จาก 14 วัน เหลือ 10 วัน และเปลี่ยนนิยามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงใหม่ จากเดิมกำหนดผู้โดยสาร 2 แถวหน้าหลังและแถวเดียวกับผู้ติดเชื้อ แต่ที่ผ่านมาการติดเชื้อในเครื่องบินต่ำมาก หากป้องกันควบคุมโรคดี ใส่หน้ากากตลอดเวลา ส่วนใหญ่พบการติดเชื้อในแถวเดียวกันมากกว่า จึงเปลี่ยนนิยามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเฉพาะผู้ที่นั่งติดกันซ้ายขวาของผู้ติดเชื้อและไม่สวมหน้ากากนานกว่า 5 นาที
นอกจากนี้ ยังรับทราบ 6 เรื่อง คือ 1.สถานการณ์การระบาดของโควิด 19 มีแนวโน้มลดลง แต่ยังมีบางจังหวัดระบาด เช่น 4 จังหวัดชายแดนใต้การระบาดทรงตัว บางจังหวัดแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องให้ความสำคัญ การติดเชื้อที่มีความสัมพันธ์กิจกรรมบางอย่างให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเข้มงวด 2.แผนเปิดประเทศและแนวทางปฏิบัติของผู้เดินทางเข้ามาสู่ราชอาณาจักร ซึ่งดกำหนดผู้เดินทางจาก 45 ประเทศ 1 เขตบริหารพิเศษ ไม่ต้องกักตัว หากฉีดวัคซีนครบ โดยตรวจ RT-PCR เมื่อมาถึงประเทศไทย ผลเป็นลบเดินทางไปที่อื่นต่อได้
3.ความก้าวหน้าการฉีดวัคซีนโควด 19 สะสม 72 ล้านโดส เทียบกับเป้าหมายเดิม สิ้นเดือน ต.ค.จะฉีดวัคซีน 70 ล้านโดส ถือว่าเกินเป้าหมาย สิ้นเดือนนี้คงได้ 75 ล้านโดส รวมถึงฉีดนักเรียนเบื้องต้นสำรวจ 12 ปีขึ้นไป 5 ล้านคน สมัครใจแสดงความประสงค์ 3.8 ล้านคน ดำเนินการฉีด 2 สัปดาห์ มากกว่า 2 ล้านกว่าโดส ไม่พบปัญหาจากวัคซีนที่รุนแรง พบผลข้างเคียงกล้ามเนื้อหัววใจอักเสบบ้าง อาการน้อยไม่รุนแรง จึงมีความมั่นใจ ประสงค์ฉีดเพิ่มเติมอย่างต่ำ 5 แสนคน จะจัดสรรวัคซีนให้นักเรียนต่อไป รวมถึงการออกวัคซีนฟาสปอร์ตแบบเล่มที่ผ่านมาออกแล้ว 4 หมื่นราย ปรับระบบจองการออกหนังสือแบบออนไลน์ ถ้าส่งเอกสารออนไลน์ครบ นัดหมายใช้เวลาออกเอกสารไม่เกิน 1 ชั่วโมง แต่ปัญหาล่าช้าเกิดจาก 2 ส่วน คือ วอล์กอินไม่จองล่วงหน้าและไม่ส่งข้อมูลล่วงหน้า เมื่อเกิดเอกสารไม่ครบทำให้ติดขัด และที่พบบ่อยที่สุด คือ รพ.เอกชนบางแห่งใน กทม.บันทึกข้อมูลไม่ครบ จึงออกหนังสือไม่ได้ ได้มอบผู้แทน กทม.ไปหารือและตรวจสอบ รพ.ที่เกี่ยวข้องต่อไป
4.รับทราบการเฝ้าระวังสายพันธุ์เดลตาพลัส ซึ่งที่พบในไทยแตกต่างจากเดลตาพลัสอังกฤษ ทั้งนี้ การกลายพันธุ์เป็นเรื่องปกติ ไม่ได้มีแนวโน้มระบาดง่ายขึ้นหรือรุนแรงขึ้น 5.แผนจัดการยาโมลนูพิราเวียร์ ซึ่ง ครม.เห็นชอบให้นำเข้าได้ และ 6.แนวปฏิบัติบุคลากรทางการแพทย์ที่สัมผัสผู้ป่วยยืนยันฉบับปรับปรุง เพราะบุคลากรทางการแพทย์มีการฉีดวัคซีนจำนวนมาก แนวโน้มติดเชื้อป่วยรุนแรงน้อยลง จึงปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 108 views