บอร์ดโรคติดต่อไฟเขียว ร่างกฎกระทรวงชดเชยค่าเสียหายจากการ "ควบคุมโรคติดต่อ" ทั้งต่อร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สิน หากได้รับผลกระทบจากการควบคุมโรค ยื่นร้องต่อ สสจ. สำนักอนามัย ภายใน 90 วัน พิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วัน ครอบคลุมค่ารักษา 3หมื่นบาท ฟื้นฟูสมรรถภาพ 5 หมื่นบาท เตรียมเสนอร่างฯ ให้ครม.เห็นชอบ  

 

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม   นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 ว่า วันนี้ที่ประชุมพิจารณาเห็นชอบร่างกฎหมาย 2 ฉบับ คือ 1. ร่างอนุบัญญัติที่ออกตามความในพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับการจ่ายค่าทดแทนเพื่อชดเชยความเสียหายจากการ เฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคติดต่อ โดยเมื่อเกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน จากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. เป็นผู้พิจารณากำหนดค่าทดแทนตามความจำเป็น  

ทั้งนี้ อาศัยฐานอำนาจตามมาตรา 48 กรณีเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ เข้าไปดำเนินการเฝ้าระวังควบคุมป้องกันโรค หากเกิดความเสียหายขึ้น ไม่ว่าจะต่อร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สิน ให้ไปกำหนดในกฎกระทรวงเกี่ยวกับค่าชดเชย ขั้นตอนต่อไปจะส่ง ครม.พิจารณา หากเห็นชอบตามร่างนี้ก็จะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบร่างกฎหมาย ว่าเป็นไปตามวิธีการเสนอเขียนกฎหมายหรือไม่ หากเห็นชอบก็ส่งกลับมายัง สธ.เพื่อให้ตนลงนามบังคับใช้ต่อไป ยกตัวอย่าง  ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย ค่าขาดประโยชน์ระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ ในกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย จะมีการชดเชย ความเสียหายให้แก่ทายาท เช่น ค่าทดแทน ค่าจัดงานศพ ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เรื่อง การออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค โดยให้อธิบดีกรมควบคุมโรค มอบหมายเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐ บุคลากรของสภากาชาดไทย หรือบุคลากรของสถานพยาบาล ทำหน้าที่ออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เพื่อประโยชน์ในการป้องกันโรคติดต่อระหว่างประเทศ

2. เห็นชอบการทบทวนคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ด้านการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล เพื่อให้มีความเหมาะสมกับการดำเนินงานการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล

 

ผู้สื่อข่าวถามว่าร่างกฎกระทรวงฯ เรื่องชดเชยความเสียหายจะใช้งบประมาณจากส่วนใดและมีกำหนดเพดานหรือวงเงินในการชดเชยหรือไม่  นพ.ชลน่านกล่าวว่า กรมควบคุมโรคจะมีการตั้งงบประมาณในส่วนนี้ไว้รองรับ ส่วนอัตราการจ่ายเงิน เช่น ความเสียหายต่อบุคคลค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 30,000 บาท ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย ไม่เกิน 50,000 บาท กำหนดไว้เป็นข้อๆ ซึ่งไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเป็นการควบคุมโรคจากโรคติดต่ออันตราย เราใช้ว่าการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดต่อ หากดำเนินการแล้วเสียหายร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สินก็คิดค่าเสียหายชดเชยได้

แตกต่างจากม.41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ

ถามว่าจะแตกต่างจากค่าเยียวยาความเสียหายทางการแพทย์ของ สปสช.หรือไม่  นพ.ชลน่านกล่าวว่า ตรงนั้นเป็นไปตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เรื่องความเสียหายจากการรักษาพยาบาล อันนี้ก็เหมือนกันแต่เป็นการควบคุมโรค ยกตัวอย่าง เข้าไปพ่นยากันยุงแล้วเผลอเข้าหน้าคนจนเสียหายเขาก็เรียกร้องได้ แต่ต้องพิสูจน์ว่า มาจากการควบคุมโรค ซึ่งก็จะมีเกณฑ์กำหนดอยู่ในร่างกฎกระทรวง

 

ผู้สื่อข่าวถามว่าถือเป็นครั้งแรกของการออกกฎหมายลักษณะนี้เลยหรือไม่  นพ.ชลน่านกล่าวว่า ตั้งแต่ออก พ.ร.บ.โรคติดต่อ กำลังออกกฎกระทรวงมารองรับ แต่ต้องรับความเห็นชอบจาก ครม.ก่อน

 

ถามว่าการจ่ายค่าชดเชยความเสียหาย จะช่วยให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคเข้าไปควบคุมโรคง่ายขึ้นหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาอาจติดปัญหาเจ้าของสถานที่ไม่ยอมให้ดำเนินการ เพราะเกรงจะเสียหายหรือเสียรายได้ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ผู้ออกกฎหมายคำนึงถึงเรื่องนี้ เพื่อให้เกิดความร่วมมือป้องกันควบคุมโรค หากมีข้อกังวลความเสียหายเรามีมาตรการรองรับ แต่เราไม่อยากให้เกิดความเสียหายแน่นอน แต่เป็นการเขียนเพื่อให้เกิดความมั่นใจ เกิดวิธีปฏิบัติและระมัดระวัง  

เมื่อถามอีกว่า หากเข้าไปควบคุมโรคแล้วมีการสั่งปิดร้านชั่วคราวจนสูญเสียรายได้ จะสามารถยื่นเรื่องขอชดเชยความเสียหายจากการสูญเสียรายได้ได้หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ต้องไปดูว่าเสียหายหรือไม่ ดูว่าความเสียหายเกิดจากการควบคุมโรค เช่น ต้องหยุดกิจการเพื่อไม่ให้โรคระบาด ถ้าเกิดความเสียหายตรงนั้นเกิดขึ้นก็มีสิทธิ ซึ่งหากคิดว่าได้รับความเสียหายก็สามารถยื่นต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรค ซึ่งผู้รักษากฎหมายคือ รมว.สธ. และผู้รับผิดชอบ คือ อธิบดีกรมควบคุมโรค

เปิดรายละเอียดร่างกฎกระทรวงฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่างกฎกระทรวงการจ่ายค่าทดแทนเพื่อชดเชยค่าเสียหายจากการเฝ้าระวัง การป้องกันและการควบคุมโรคติดต่อ พ.ศ. ... ระบุขั้นตอนการขอชดเชยว่า สามารถยื่นเรื่องได้ 2 กรณี คือ เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ รายงานต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) / สำนักอนามัย กทม. เพื่อรายงานต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. ภายใน 7 วันนับแต่รู้/ควรรู้ได้ถึงความเสียหาย กับกรณีผู้เสียหาย/ทายาทยื่นคำร้องต่อ สสจ. สำนักอนามัย ภายใน 90 วันนับแต่รู้/ควรรู้ได้ถึงความเสียหาย และให้ สสจ. สำนักอนามัย รายงานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. ภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ

สำหรับการพิจารณาค่าทดแทน คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. จะพิจารณากำหนดค่าทดแทนภายใน 30 วัน ขยายเวลาได้ไม่เกิน 30  วัน โดยให้จัดทำบัญชีรายชื่อผู้เสียหายและทรัพย์สินที่เสียหาย โดยตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง รับฟังพยานบุคคลและคำชี้แจงของเจ้าพนักงานฯ ผู้เสียหาย พยานผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงตรวจสอบวัตถุ สถานที่ หรือเอกสารที่เกี่ยวข้อง พิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของเจ้าพนักงานฯ ว่าได้ดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่และกระทำให้เกิดความเสียหายหรือไม่ ซึ่งกรณีไม่เกิน 4 แสนบาท กรมควบคุมโรคพิจารณาและเบิกจ่ายค่าทดแทน  กรณีเกิน 4 แสนบาท จะให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติพิจารณาและกรมควบคุมโรคเบิกจ่ายค่าทดแทน โดยการเบิกจ่าย/แหล่งเงินให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติกำหนด

อัตราค่าทดแทนความเสียหายจากการควบคุมโรค

ส่วนรายการและอัตราค่าทดแทน มีดังนี้

 

1.ความเสียหายต่อบุคคล

 

- ค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 3 หมื่นบาท

 

- ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ ไม่เกิน 5 หมื่นบาท

 

- ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในท้องที่จังหวัดประกอบการงาน ณ วันที่ไม่สามารถประกอบการงานได้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ 

 

- กรณีผู้เสียหายถึงแก่ความตาย ให้ชดเชยความเสียหายแก่ทายาทโดยธรรม ดังนี้ ค่าทดแทน 3 หมื่น - 1 แสนบาท ค่าจัดการศพ 2 หมื่นบาท ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู ไม่เกิน 3 หมื่นบาท

 

- ค่าเสียหายอื่น (ถ้ามี) ไม่เกิน 3 หมื่นบาท

 

2.ความเสียหายต่อทรัพย์สิน

ให้พิจารณาโดยคำนึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด/เทียบราคาที่อ้างอิงจากทางราชการ/การเสื่อมราคา/ทางราชการได้บรรเทาหรือแก้ไขความเสียหายไปแล้ว