ครม.เห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมสมัยพิเศษระดับรัฐมนตรีอาเซียน มุ่งลดผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19ต่อกลุ่มคนยากจน
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)รับทราบผลการประชุมและให้ความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมสมัยพิเศษระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน ภายใต้แนวคิด “การลดความยากจนและเสริมสร้างศักยภาพในการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง : การฟื้นฟูประเทศจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สำหรับการประชุมสมัยพิเศษระดับรัฐมนตรีอาเซียนฯครั้งนี้จัดขึ้นผ่านระบบการประชุมทางไกลเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2563 มีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเป็นประธานการประชุม มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 โดยทุกประเทศจะต้องมีมาตรการเพื่อรองรับการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ โดยเฉพาะการเสริมสร้างขีดความสามารถในการปรับตัวของกลุ่มคนยากจน เพื่อให้อาเซียนสามารถเติบโตไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ในการประชุมดังกล่าว เลขาธิการอาเซียนได้รายงานว่า ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้สัดส่วนคนยากจนเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 15 เมื่อปี 2558 เป็นร้อยละ 47 เนื่องจากผลกระทบส่วนใหญ่เกิดขึ้นในชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเกษตรกรรม รวมทั้งแรงงานในเมืองที่ตกงานจากการที่ผู้ประกอบการปิดกิจการได้เดินทางกลับภูมิลำเนา ดังนั้นประเด็นเรื่องความคุ้มครองทางสังคมและการรักษาความมั่นคงทางอาหารจึงเป็นประเด็นที่ทุกประเทศสมาชิกอาเซียนควรให้ความสำคัญ เพื่อทำให้ชุมชนในชนบทสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวได้
สำหรับสาระสำคัญของร่างถ้อยแถลงร่วมฯมีดังนี้คือ ที่ประชุมแสดงข้อห่วงกังวลเรื่อผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ซึ่งทำให้ประชากรโลกกว่า 100 ล้านคน เข้าสู่สภาวะยากจนอย่างรุนแรงและมีความเสี่ยงต่อความหิวโหยในระยะยาวมากขึ้น ส่งผลให้ความก้าวหน้าของประเทศสมาชิกอาเซียนที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 1 ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ ต้องหยุดชะงักไป รวมทั้งมีข้อกังวลว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท
อย่างไรก็ตามเพื่อขจัดความยากจนจากผลกระทบของโควิด-19ดังกล่าว ประเทศสมาชิกอาเซียนจึงมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการดังนี้คือ ปกป้องผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง เพิ่มโอกาสในการจ้างงานและการกระจายรายได้ และส่งเสริมการดำรงชีวิตในชนบทและสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจในท้องถิ่นและระบบการผลิตอาหารให้สามารถขับเคลื่อนไปได้ สร้างความเชื่อมั่นมีหลักประกันว่าทุกประเทศมีกรอบแนวทางที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูประเทศที่มุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับคนยากจน และให้ความสำคัญกับข้อจำกัดที่สตรีและเยาวชนในชนบทต้องเผชิญ ส่งเสริมการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในชนบท เสริมสร้างกรอบนโยบายเชิงบูรณาการเพื่อเชื่อมโยงชนบทกับเมืองในทุกระดับ
- 16 views