จับตาสถานการณ์วัคซีนทั่วโลก กับความหวังของทุกประเทศ ขณะที่สหรัฐอาจยังไม่สามารถทดลองใช้วัคซีนได้ก่อน 25 พ.ย. หรือก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เหตุมีปัจจัยเรื่องความปลอดภัย
ในขณะที่ทั่วโลกกำลังรอข่าวดีจากการผลิตวัคซีนป้องกันโรค Covid-19 ที่บริษัทยาชั้นนำทั่วโลกต่างเร่งทำการทดลอง วิจัย และพัฒนาวัคซีนให้ประสบความสำเร็จโดยเร็วที่สุดนั้น ความหวังที่จะได้วัคซีนมาใช้เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดที่เพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศอินเดีย และเพื่อนบ้านของเรา อย่างเช่น มาเลเซีย และเมียนมากลับชะงักงัน เมื่อหลายบริษัททั้งในฝากฝั่งอเมริกาและยุโรป ออกมาเปิดเผยถึงการหยุดการทดลองวัคซีนในมนุษย์ชั่วคราว หลังจากพบผลข้างเคียงจากการทดลองวัคซีนดังกล่าว
ล่าสุดบริษัทแจนเซน ฟาร์มาซูติเคิล ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทจอนซัน แอนด์ จอนซัน (Janssen Pharmaceutical companies of Johnson&Johnson) และเป็น 1ใน 6 บริษัทที่ทำการวิจัยและพัฒนาวัคซีน Covid-19 กับพลเมืองในสหรัฐอเมริกา ได้ออกแถลงการณ์แจ้งหยุดการทดลองในมนุษย์ ชั่วคราว หลังจากพบผลข้างเคียงจากการเจ็บป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุของผู้ที่ทดลองใช้วัคซีน โดยในแถลงการณ์ระบุว่า การเกิดผลข้างเคียงเป็นเรื่องปรกติทั่วไปในการทดลองวัคซีนกับผู้คนจำนวนมาก แต่ด้วยมาตรฐานความปลอดภัยขั้นสูงสุด เมื่อเกิดผลกระทบข้างเคียงใดๆ จำเป็นต้องมีการศึกษาในตัววัคซีนใหม่อีกครั้งหนึ่ง
ดังนั้นจึงต้องหยุดการทดลองในคนชั่วคราวจนกว่าจะมีการพิจารณาข้อมูลอย่างถี่ถ้วนอีกครั้งหนึ่งว่าจะสามารถกลับมาทดลองในคนได้อีกเมื่อไหร่ ก่อนหน้านี้ทางบริษัทได้มีการทดสอบวัคซีนดังกล่าวกับอาสาสมัครมากกว่า 60,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงสุดในการทดสอบวัคซีนเมื่อเทียบกับการทดลองจากบริษัทอื่นๆในสหรัฐอเมริกา โดยการทดลองในระยะที่ 3 ได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกันยายน นับได้ว่าวัคซีนจากบริษัทดังกล่าวถือว่าเป็นความหวังครั้งสำคัญของชาวอเมริกา เพราะมีความคืบหน้าค่อนข้างมาก และวัคซีนตัวนี้มีคุณลักษณะพิเศษที่สามารถใช้แค่หนึ่งโดสเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน จึงสามารถร่นระยะในการทดสอบได้ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับวัคซีนจากบริษัทอื่น อย่าง โมเดอนา และไฟเซอร์ ซึ่งต้องใช้ถึงสองโดสเพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกัน และใช้เวลาในการทดสอบที่ยาวนานกว่า
ก่อนหน้านี้ บริษัทเอสทราเซนนิกา (AstraZeneca) ที่ได้ร่วมผลิตและพัฒนาวัคซีนร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในประเทศอังกฤษ ได้ออกมาชี้แจงว่าทางบริษัทได้ชะลอการทดลองในระยะ 3 เนื่องจากพบผลกระทบข้างเคียงทางระบบประสาทในอาสาสมัครทดลองวัคซีนเมื่อเดือนที่ผ่านมา แต่ล่าสุดทางบริษัทได้ประกาศทำการทดลองต่อในระยะที่ 3 ในประเทศต่างๆ เช่น บราซิล แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น และรวมถึงประเทศอังกฤษเอง แต่ยังไม่สามารถดำเนินการทดลองต่อในสหรัฐอเมริกาได้ เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการสอบสวนขององค์การอาหารและยาของสหรัฐ การกลับมาทำการทดลองใหม่อีกครั้งอย่างรวดเร็วทำให้เกิดความคิดเห็นที่แตกต่างกัน โดยคนส่วนใหญ่ให้ความกังวลในเรื่องความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีน ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งมองว่าเป็นโอกาสที่สำคัญในการทดลองวัคซีนอย่างเร่งด่วนเพื่อยุติการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
ความหวังของคนอเมริกันที่จะมีวัคซีนใช้ภายในปีนี้ดูช่างริบหรี่ เช่นเดียวกับความหวังของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ที่ต้องการให้ประชาชนสหรัฐมีวัคซีนใช้ก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ โดยบริษัทยาชั้นนำอย่าง โมเดอนา ออกมาประกาศชัดเจนว่ายังไม่มีความพร้อมที่จะขอใช้สิทธิการใช้ยาในภาวะฉุกเฉินก่อนวันที่ 25 พฤศจิกายน นั่นก็หมายความว่ามีความเป็นไปได้สูงว่าจะไม่มีวัคซีนที่จะนำมาใช้ในภาวะฉุกเฉินก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอย่างที่ทรัมป์หวังเอาไว้
ในขณะเดียวกัน องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ได้ออกระเบียบการพิจารณาในการอนุญาตให้ใช้วัคซีนในภาวะฉุกเฉิน โดยระบุอย่างชัดแจนว่า จะต้องใช้ระยะเวลากว่าสองเดือนเพื่อศึกษาข้อมูลความปลอดภัยของการใช้วัคซีนหลังจากที่มีการให้ยาในโดสที่สองกับอาสาสมัครแล้วก่อนที่จะพิจารณาอนุมัติให้บริษัทใดๆใช้วัคซีนกับบุคคลทั่วไปภายใต้ภาวะฉุกเฉินได้ ซึ่งกฏระเบียบดังกล่าวออกมาเพื่อขจัดความห่วงใยของคนอเมริกาส่วนใหญ่ที่มองว่า อาจมีแรงกดดันทางการเมืองในการนำวัคซีนมาใช้เพื่อผลประโยชน์ โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบความปลอดภัยด้านสุขภาพ
ภาพประกอบ CDC National Immunization Program (Public Domain)
“ตั้งแต่เราเริ่มพัฒนาวัคซีนเพื่อมาแข่งกับการระบาดของโรคโควิดตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ไม่มีใครจากพรรคไหน หรือจากหน่วยงานใดของรัฐบาลสามารถจะมาบอกให้เราพัฒนาให้เร็วขึ้น หรือทำให้ช้าลง” นี่เป็นคำกล่าวของนายสเตฟาน บาลเซล ซีอีโอของบริษัทยา โมเดอนาระหว่างการประชุมที่จัดโดยนิตยสาร Financial Times เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อยืนยันว่าบริษัทปราศจากแรงกดดันจากทางการเมืองในการพัฒนาวัคซีน
ในขณะที่สหรัฐอเมริกา และยุโรปกำลังติดกับดักข้อระเบียบความปลอดภัยสูงสุดในการผลิตวัคซีน ประเทศคู่แข่งที่สำคัญอย่างจีน ประกาศความมุ่งมั่นอย่างชัดเจนว่าจะสามารถผลิตวัคซีนโควิด-19 สำเร็จภายในเดือนหน้า โดยในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ประเทศจีนได้ทำการทดลองวัคซีนระยะที่ 3 ในมนุษย์กับวัคซีนทั้งหมด 4จาก 10 ชนิดที่มีการทดลองในระยะที่ 3 จากทั่วโลก โดยการทดลองระยะดังกล่าวจะทำการทดลองในอาสาสมัครจำนวนมากกว่า 10,000 คนขึ้นไป เพื่อทดสอบความปลอดภัยขั้นสูงสุด วัคซีนทั้ง4 ชนิดของจีนมาจาก ไชนา เนชันแนล ไบโอเทค กรุ๊ป (China National Biotec Group) และที่เหลืออีก 2 ชนิดมาจาก บริษัทซิโนฟาร์ (Sinopharm) และบริษัทแคนซิโน ไบโอโลจิก (CanSino Biologics) ตามลำดับ
“ทางบริษัทได้ทำการทดลองระยะที่ 3 ในมนุษย์กับอาสาสมัครกว่า 42,000 คนจากอาหรับเอมิเรต บาเรนด์ เปรู โมรอคโค และอาร์เจนตินา เราเหลือระยะทางที่เหลืออีกไม่ไกลที่จะประสบกับผลสำเร็จเพราะการทดลองมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดคิดเอาไว้” นายหยาง เซียะหมิง ประธานบริษัท ไชนา เนชันแนล ไบโอเทค กรุ๊ปกล่าวระหว่างการประชุมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพที่เมืองอู๋ฮั่น ซึ่งเป็นเมืองที่พบการระบาดเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามในมุมมองของนักวิชาการด้านสุขภาพอย่างนาย หยางโซง ฮวง กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ว่า จีนจะเป็นประเทศแรกที่ประกาศความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีน แต่ปัญหาที่สำคัญคือ วัคซีนดังกล่าวจะรับความเชื่อถือจากประเทศต่างๆได้มากน้อยขนาดไหน โดยเฉพาะในหมู่นักวิทยาศาสตร์
อย่างไรก็ตามความท้าทายของวัคซีนป้องกันโรค Covid-19 ไม่ได้อยู่ที่ประเด็นของความปลอดภัยเท่านั้น แต่คำถามที่น่าสนใจอยู่ที่ประสิทธิภาพในการป้องกันและควบคุมโรค รายงานล่าสุดของการศึกษาวิจัยโควิด-19 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet Infectious Diseases journal พบว่าชายชาวสหรัฐอายุ 25 ปีจากรัฐเนวาดามีอาการป่วยจากโรคโควิดเป็นครั้งที่สอง หลังจากหายป่วยไปแล้ว 48 วัน ซึ่งอาการป่วยครั้งที่สองมีอาการรุนแรงกว่าครั้งแรกมาก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับระยะเวลาของภูมิคุ้มกันว่ามียาวนานขนาดไหน ซึ่งย่อมมีผลกับการพัฒนาและวิจัยวัคซีนในอนาคต เพราะถ้าภูมิคุ้มกันมีระยะเวลาทำงานที่สั้น การใช้วัคซีนในการควบคุมโรคอาจจะได้ผลไม่มากนัก
นอกจากการพัฒนาวัคซีนแล้ว นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทางการแพทย์เอ็กเซอร์เตอร์ ในอังกฤษได้ทำการศึกษาวิจัยการใช้วัคซีนป้องกันวัณโรคว่ามีประสิทธิภาพในการยับยั้งโรคโควิด-19 ได้หรือไม่ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าวัคซีนป้องกันวัณโรคจะสามารถเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงมากขึ้น โดยขณะนี้ได้มีการทดลองและวิจัยในประเทศแถบแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นอีกช่องทางแห่งความหวังในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคจากวัคซีนทางเลือกที่มีความปลอดภัยที่สูงมาก
อย่างไรก็ตาม ระหว่างรอวัคซีน สถานการณ์การติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้น โดยทั่วโลกมีรายงานติดเชื้ออยู่ที่กว่า 37 ล้านราย เสียชีวิตอีกกว่า 1 ล้านคน สหรัฐยังคงมีผู้ป่วยมากที่สุด สำนักงานควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกาคาดว่าภายในสิ้นเดือนนี้จะมีคนตายเพิ่มขึ้นอีก 20,000 ราย และมากกว่า 31 รัฐในสหรัฐที่มีการติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในฝรั่งเศสเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีการรายงานการติดเชื่อรายใหม่ เพิ่มขึ้น 26,000 รายภายในวันเดียว นับตั้งแต่มีการระบาดครั้งแรกในประเทศ ทางการจีนล่าสุดสั่งให้มีการตรวจเชื้อโควิดในเมืองซิงเต่าที่มีประชากรกว่า 9 ล้านคน หลังจากพบว่ามี 12 เคสจากผู้กลับมาจากต่างประเทศติดเชื้อโควิดและทำการรักษาที่โรงพยาบาลในเมืองดังกล่าว ส่วนสถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้าน กรณีเมียนมา ขณะนี้ผู้ติดเชื้อยังมีจำนวนสูงขึ้นต่อเนื่องกว่า 2.6 หมื่นราย
วัคซีนจึงยังเป็นความหวังที่ไม่ใช่แค่ไทย แต่ทั่วโลกต่างเฝ้ารอ...
*******************************
อ้างอิง
WHO Coronavirus Disease (COVID-19) Dashboard
Covid-19 reinfection casts doubt on virus immunity (AFP), August 13, 2020
China is doubling down in the global push for a coronavirus vaccine (CNN), August 9, 2020
Johnson & Johnson pauses Covid vaccine trial over participant’s “unexplained illness” www.theguardian.com October 13, 2020
AstraZeneca’s quick Covid-19 vaccine trial restart splits experts, GlobalData Healthcare October, 12, 2020
- 80 views