เครือข่ายภาคีสร้างสุขภาวะเด็ก มอบ 12 ข้อเสนอป้องกันแก้ไขปัญหาละเมิดเด็ก ต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ชู ตัดคำว่า “โรงเรียน” ออกจากอนุบาล มุ่งคุ้มครอง ดูแล เน้นวินัยเชิงบวก ครูเข้าใจจิตวิทยาเด็ก สร้างระบบตรวจสอบ-แจ้งเหตุผ่านระบบดิจิทัล
เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ กทม. เครือข่ายภาคีสร้างสุขภาวะเด็ก เดินทางไปมอบข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาการละเมิดเด็กในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย และส่งเสริมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์และปลอดภัยสำหรับเด็ก ต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้แทนคณะกรรมการฯ รับมอบ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงเจตนารมณ์ สนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายฯ สู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้เด็กปฐมวัยอย่างแท้จริง
น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายทั้ง 12 ข้อนี้ล้วนเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น ซึ่งเครือข่ายภาคีนักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงาน และพ่อแม่ผู้ปกครองได้ร่วมกันวิเคราะห์ว่าหากทำทันทีจะเป็นกำไรของสังคมไทยมาก เพราะเด็กโตเร็ว และโตขึ้นทุกวัน ยิ่งช้าสังคมไทยก็ยิ่งเสียโอกาส
“ขอให้คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ให้สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยประกาศตนเป็นพื้นที่ปลอดพฤติกรรมรุนแรงต่อเด็ก ด้วยกาย วาจา อารมณ์ และแสดงมาตรการในการดำเนินงานให้สอดคล้อง ตลอดจนกำหนดแนวทางติดตามและประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ และประกาศหลักการสำคัญของการจัดการศึกษาปฐมวัยที่สอดคล้องกับพัฒนาการตามธรรมชาติของเด็ก คำนึงถึงเด็กที่มีความต้องการพิเศษ และยึดหลักการศึกษาที่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัย คือการรักษาความเป็นธรรมชาติของเด็กไว้ และเปิดโอกาสให้จิตวิญญาณ ร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา พัฒนาไปพร้อมกันอย่างสมดุลและเหมาะสมตามวัย ไม่ใช่การสอนเพื่อเร่งเรียนเขียนอ่าน พิจารณาตัดคำว่า “โรงเรียน” ออกจากอนุบาลเพราะสร้างความเข้าใจผิดว่าเด็กต้องอ่านออกเขียนได้ ควรใช้คำว่า “อนุบาล” ซึ่งราชบัณฑิตยสภาให้ความหมายว่า “ตามเลี้ยงดู ตามระวังรักษา” น.ส.ณัฐยา กล่าว
นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้อำนวยการมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน กล่าวว่า ปัญหาที่เป็นทั้งเรื่องสำคัญและเร่งด่วน ควรได้รับการจัดลำดับแก้ไขและคลี่คลายเป็นลำดับต้นๆ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เพียงเป็นการกระทำความรุนแรงต่อเด็กเท่านั้น ผลกระทบจากมือถือ ความบีบคั้นจากภาวะเศรษฐกิจ การเร่งรัดทางการศึกษา ฯลฯ กำลังเผยผลรูปธรรมจากวิกฤตที่สั่งสมมายาวนาน ซึ่งเราสามารถพยากรณ์สภาพพลเมืองไทย และสังคมไทยในอีก 10 - 15 ปี ข้างหน้าได้ว่าจะเป็นเช่นไร การแก้ไข เยียวยา และการพัฒนา จึงควรทำอย่างเร่งด่วน
นายอรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ ผู้ก่อตั้ง Life Education Thailand หนึ่งในเครือข่ายภาคีสร้างสุขภาวะเด็ก กล่าวว่า ข้อเสนอครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็กในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างยั่งยืน รวมถึงส่งเสริมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย หัวใจสำคัญอีกประการ คือต้องส่งเสริมการพัฒนารูปแบบการมีส่วนร่วมของครอบครัวในการพัฒนาเด็กปฐมวัยร่วมกับครูอาจารย์ และกำหนดให้สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยมีหน้าที่ให้ความรู้เรื่องพัฒนาการเด็กอย่างถูกต้องแก่ผู้ปกครองเพื่อทำงานไปในทิศทางเดียวกัน
นายเชษฐา มั่นคง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก กล่าวว่า ในการพัฒนาเด็กปฐมวัยนั้น จะต้องเน้นการดูแล พัฒนา จัดการเรียนรู้ และต้องทำตั้งแต่เด็กอยู่ในครรภ์มารดา เพื่อให้เด็กมีร่างกายแข็งแรงและสมองพัฒนาเต็มที่ ส่วนที่บ้าน ครอบครัว และสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย จะต้องเป็นพื้นที่ ปลอดภัยสำหรับเล็กหรือเด็กปฐมวัย เป็นอันดับต้นๆ ขณะเดียวกันผู้ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องดูแลเด็กปฐมวัย จะต้องตระหนักรู้ด้านการพัฒนาเด็กที่มุ่งการเรียนรู้ด้วยตนเอง ส่วนพ่อแม่ ครู และผู้ดูแลเด็ก เป็นเพียงผู้สนับสนุน เน้นการเรียนรู้ผ่านการเล่นอย่างอิสระ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอย่างที่เป็นข่าวในปัจจุบัน
“การพัฒนาเด็กปฐมวัย ไม่ได้มีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เป็นผู้ที่ดูแลโดยเฉพาะ จะต้องมีหลาย ๆ หน่วยงานร่วมกันบูรณาการนำไปสู่การกำหนดทิศทางพัฒนาเด็กปฐมวัยที่ชัดเจนมากขึ้น สุดท้ายนี้เพื่อให้คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยทำงานขับเคลื่อนได้อย่างเต็มที่และมีคุณภาพ จึงจำเป็นต้องมี “หน่วยงานหรือสำนักงาน”ของตนเอง เพื่อขับเคลื่อนงานพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นการเฉพาะ” นายเชษฐา กล่าว
- 8 views