กรมการแพทย์เตรียมพร้อมชุมนุม 24 ก.ย. พร้อมเตรียมแผนรับมือ 4 มิติ
เมื่อวันที่ 22 กันยายน นพ.ณรงค์ อภิกุลวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการรายงานผลดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือ โควิด-19 กรณีการชุมนุมของประชาชน เมื่อวันที่ 19-20 กันยายน ที่ผ่านมา
นพ.ณรงค์ กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการสธ. และ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการสธ. มีความห่วงใยประชาชน จึงได้สั่งการให้จัดหน่วยบริการสาธารณสุขประจำจุดโดยรอบบริเวณจัดกิจกรรม เมื่อวันที่ 19-20 กันยายนที่ผ่านมา ไม่พบผู้เจ็บป่วยในอาการรุนแรง มีเพียงการเจ็บป่วยเล็กน้อย เจ้าหน้าที่จึงให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เช่น หน้ามืด เป็นลม ตะคริว โดยมีผู้เจ็บป่วยที่ต้องนำส่งต่อไปยังโรงพยาบาล(รพ.) จำนวน 5 ราย ด้วยอาการตะคริว เป็นลมและบาดเจ็บไม่รุนแรง เช่น สิ่งของหล่นทับมือ
"ขณะนี้ยังไม่มีผู้ป่วยที่มีประวัติเข้าร่วมการชุมนุมและเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล โดยวันกิจกรรมหน่วยคัดกรองที่สธ.ประจำจุดไว้ ทำการคัดกรองไปได้กว่า 70% หากพบผู้มีไข้ ก็จะขอให้กลับบ้าน แต่ส่วนใหญ่แล้วไปนั่งพักสักครู่ กลับมาวัดครั้งที่ 2 ก็ไม่มีไข้แล้ว" นพ.ณรงค์ กล่าว
นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า สำนักการแพทย์ โรงเรียนแพทย์ รพ.ทหารเหล่าทัพ และ รพ.เอกชน มีการเตรียมแผนรับมือในสถานการณ์เช่นนี้อยู่แล้ว แต่จะเตรียมเล็กหรือใหญ่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ สถานที่และจำนวนผู้เข้าร่วม แผนรับมือที่ สธ.ซักซ้อมในกรณีการชุมนุม จะมี 4 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 เตรียมสถานพยาบาลที่ใกล้เคียงสถานที่จัดชุมนุม เช่น เจรียมพร้อมห้องผ่าตัด ห้องฉุกเฉิน ห้องไอซียู หอผู้ป่วย ส่วนประกอบของเลือด เวชภัณฑ์ เป็นต้น โดยวันจัดกิจกรรมที่ผ่านมาจัดขึ้นบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และสนามหลวง จึงเตรียม รพ.ของรัฐใกล้เคียง เช่น วชิระพยาบาล รพ.ศิริราช รพ.กลาง รพ.ราชวิถี รพ.รามาธิบดี รพ.พระมงกุฎ รพ.สงฆ์ รพ.เลิศสิน สถาบันประสาทวิทยา ส่วนใน รพ.เอกชนใกล้เคียง เช่น รพ.หัวเฉียว รพ.มิชชั่น รพ.พญาไท
รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวต่อว่า มิติที่ 2 เตรียมหน่วยกู้ชีพฉุกเฉินทั้งระดับสูงและพื้นฐาน ประจำจุดรอบบริเวณการชุมนุม มิติที่ 3 เตรียมป้องกันโควิด-19 ตั้งจุดคัดกรองอุณหภูมิร่างกาย ให้คำแนะนำประชาชน แจกหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้ทุกคน และ มิติที่ 4 เตรียมแผนเผชิญเหตุ โดยเจ้าหน้าที่จากศูนย์กู้ชีพเอราวัณ สำนักการแพทย์ ทั้งนี้ คำแนะนำของประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุม เมื่อกลับไปถึงบ้านแล้วควรสังเกตอาการตนเองอย่างใกล้ชิด เป็นเวลา 14 วัน เมื่อพบว่ามีอาการป่วยใดๆ ให้รีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติว่าได้เข้าร่วมกิจกรรมในวันและเวลาใด และแพทย์จะทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธีมาตรฐานคือ RT-PCR
ผู้สื่อข่าวถามว่าในวันที่ 24 กันยายน จะมีการนัดชุมนุมอีกครั้ง สธ.เตรียมการอย่างไร นพ.ณรงค์ กล่าวว่า หากมีการรวมตัวของประชาชนในครั้งต่อไปก็จะดำเนินการใน 4 มิตินี้แต่จะมีการปรับแผนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ สถานที่และจำนวนคน
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 หลุดเข้าไปในกลุ่มการชุมนุม ทางสธ.คาดการณ์ไว้หรือไม่ว่าจะต้องทำการตรวจหาเชื้อในผู้ชุมนุมอื่นกี่ราย นพ.ณรงค์ กล่าวว่า หากเกิดกรณีพบผู้ป่วยจากการชุมนุม ต้องนำผู้ป่วยส่งเข้า รพ.เพื่อรักษา ทำการสอบสวนโรคว่ามีประวัติสัมผัสกับใครบ้าง และตรวจให้ได้มากที่สุด พร้อมกับเตือนผู้ที่อยู่ใกล้เคียงให้เฝ้าระวังสังเกตอาการของตนเอง
เมื่อถามต่อข้อคำถามว่า สธ.จะไหวหรือไม่ นพ.ณรงค์ กล่าวว่า คิดว่าน่าจะไหว โดยสธ.เราเต็มที่ในการป้องกันความปลอดภัยของประชาชน เราชั่งน้ำหนักกันแล้ว โดยทาง รมว.สธ และ รมว.สธ. มีความห่วงใยประชาชนอย่างมาก จึงได้กำชับเรื่องการจัดหน่วยบริการสาธารณสุขอย่างเต็มกำลัง
- 4 views