รองนายกฯ- รมว.สธ. เผยอย่าห่วง หลัง อ็อกฟอร์ด ชะลอทดลองวัคซีนโควิด ไทยยังมีความร่วมมือหลายหน่วยงาน ลุ้นวัคซีนจีน ได้ผลดี
เมื่อวันที่ 11 ก.ย. ที่อิมแพค เมืองทองธานี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมปรึกษาหารือ และติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของประเทศไทย โดยมีผู้วิจัยพัฒนาวัคซีน ทั้งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมควบคุมโรค สถาบันวัคซีนแห่งชาติ รวมทั้งภาครัฐ มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีน เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี ศูนย์พันธุ์วิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด, บริษัทไบโอเนท –เอเชีย จำกัด, องค์การเภสัชกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน
นายอนุทิน กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบทั่วโลก แม้ไทยจะคุมสถานการณ์ได้ แต่ต้องเฝ้าระวังทุกด้านและร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาและจัดหาวัคซีนป้องกันโรค เพื่อให้ไทยสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญและสนับสนุนเต็มที่ และไม่ว่าจะมีอุปสรรคอย่างไรแต่กระทรวงสาธารณสุขก็ให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการเข้าร่วมการพัฒนาวัคซีนต่างๆ เพื่อให้ไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่สามารถเข้าถึงวัคซีนเหล่านี้
ส่วนกรณีการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิดของบริษัท แอสตาเซนเนกา ร่วมกับออกฟอร์ด ประกาศระงับการทดลองชั่วคราว เนื่องจากเกิดปัญหากับคนที่ได้รับวัคซีนระหว่างการทดลอง ขณะนี้อยู่ระหว่างการหาสาเหตุ กรณีนี้ไม่ส่งผลกระทบกับไทยเพราะเราเพียงแต่ไปเจรจาขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเท่านั้น สิ่งที่กระทบก็แค่ล่าช้าออกไปเท่านั้น อย่างไรก็ตามนี่ไม่ใช่ผู้พัฒนาเพียงเจ้าเดียวที่เราเข้าไปร่วม แต่ยังมีช่องทางอื่นๆ ที่เข้าไปร่วมอีก เช่น โคแวก องค์การอนามัยโลก เป็นต้น
“อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนอย่าประมาท ยังคงต้องสวมหน้ากากอนามัยและหมั่นล้างมือบ่อยๆ ซึ่งตอนนี้พบว่าอัตราการล้างมือลดลง แต่ก็ขอย้ำกับประชาชนว่าหากมีสถานการณ์การติดเชื้อในประเทศเกิดขึ้นจะไม่มีการล็อกดาวหรืปิดประเทศอย่างแน่นอน เพื่อให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนแต่จะทำบางจุด บางพื้นที่” นายอนุทิน กล่าว
ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ในการประชุมวันนี้เพื่อรายงานความคืบหน้าการวิจัย หารือแนวทางพัฒนาและการขอรับการสนับสนุนของแต่ละหน่วยงาน เพื่อสถาบันวัคซีนแห่งชาติ จะรวบรวมจัดทำแผนขอเพื่อรับงบประมาณสนับสนุนภายใต้กรอบงบประมาณ 3,000 ล้านบาท จากส่วน พ.ร.ก. เงินกู้ ซึ่งจะต้องดำเนินการให้เสร็จในวันนี้ (11 ก.ย.) ส่วนที่ได้รับมาก่อนหน้านี้ 1,000 ล้านบาทนั้นแบ่งใช้ในเรื่องเร่งด่วนแล้ว 2 ส่วน คือ 400 ล้านบาท ให้คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิจัยวัคซีนชนิด mRNA ส่วนอีก 600 ล้านบาท เป็นการเพิ่มศักยภาพประเทศ ให้พร้อมสำหรับการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากหน่วยงาน บริษัทและประเทศต่างๆ ที่ไทยได้ไปทำความร่วมมือด้วย
นพ.นคร กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่จีน ออกมาเปิดเผยข้อมูลและแสดงความมั่นใจในวัคซีนที่กำลังทดสอบในมนุษย์ซึ่งคาดจะมีประสิทธิภาพป้องกันโรคได้นานถึง 3 ปี นั้น วัคซีนตัวนี้เป็นของ 1 ใน 2 บริษัทจีนที่ไทยได้ทำข้อตกลงความร่วมมือด้วยตั้งแต่ต้น ซึ่งต้องดูข้อมูลอีกครั้งหากวัคซีนตัวนี้สำเร็จจะเป็นรูปแบบใด ถ้าตรงกับเทคโนโลยีที่เราเตรียมพร้อมไว้ก็รับถ่ายทอดเทคโนโลยีได้เลย แต่ถ้าไม่ใช่ก็ต้องเป็นการขอซื้อวัคซีนสำเร็จ
- 2 views