กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดระบบเฝ้าระวังสารตกค้างในผักและผลไม้สด ทั้ง”พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพรีฟอส” พร้อมเผยผลการเฝ้าระวังผักและผลไม้สดจากตลาดสด 41 จังหวัด พบสารคลอร์ไพรีฟอสตกค้าง โดยเฉพาะผักใบและผลไม้หลายชนิด
นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวภายหลังร่วมเสวนาชี้แจงข้อเท็จจริง “งานวิจัยที่พบพาราควอต ไกลโฟเซตตกค้างในเลือดและขี้เทา” ที่ อาคาร 100 ปี การสาธารณสุขไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา ว่า จากผลงานวิจัยเรื่อง “ผลกระทบต่อพฤติกรรมประสาทของเด็กทารกจากการขาดไอโอดีนและ การรับสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืช” ของ ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า 1.ตรวจพบพาราควอตและออร์แกโนฟอสเฟตในเลือด ปัสสาวะและน้ำนมของหญิงคลอดบุตร 2.ตรวจพบพาราควอต และออร์แกโนฟอสเฟตในเลือดจากสายสะดือและขี้เทาของเด็กทารก และตรวจพบความผิดปกติทางระบบประสาท ของเด็กทารกเหล่านี้
“ จากผลการศึกษานี้บ่งบอกถึงผลกระทบของการใช้พาราควอตและออร์แกโนฟอสเฟตต่อหญิงตั้งครรภ์และเด็กทารกอย่างชัดเจน ซึ่งในส่วนของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีการเฝ้าระวังและตรวจสอบ สารตกค้างในผักและผลไม้สด โดยจัดระบบเฝ้าระวังสารตกค้างในผักและผลไม้สดให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยมีศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่ง พร้อมส่งข้อมูลต่อให้กับกรมควบคุมโรคและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา” นพ.สมฤกษ์ กล่าว
นพ.สมฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลการสุ่มตัวอย่างผักและผลไม้สดจากตลาดใน 41 จังหวัด จำนวน 154 ตัวอย่าง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนกรกฎาคม ปี 2563 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักคุณภาพและ ความปลอดภัยอาหาร พบว่า มีสารคลอร์ไพริฟอสตกค้างในตัวอย่างผักผลไม้สด 20 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 13 ผักผลไม้ที่พบได้แก่ ใบบัวบก คะน้า กะหล่ำปลี ส้ม องุ่น ฝรั่ง มะยงชิด และพบไกลโฟเซตตกค้างในตัวอย่างผักผลไม้สด จำนวน 6 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 4 ผักผลไม้ที่พบ ได้แก่ พริกขี้หนู ผักกาดขาว ผักแพว โหระพา ส้ม องุ่น และในเดือนพฤษภาคม ได้สุ่มเก็บตัวอย่างถั่วเมล็ดแห้งและธัญพืช ได้แก่ ถั่วเหลือง ข้าวโพด ข้าวบาเลย์ ข้าวสาลี และแป้งข้าวสาลี จำนวน 12 ตัวอย่าง พบว่า มีการตกค้างไกลโฟเซตในตัวอย่างถั่วเหลือง 4 ตัวอย่าง ซึ่งจากผลการตรวจพบคลอร์ไพรีฟอสและไกลโฟเซตในผัก ผลไม้สด และธัญพืช แม้จะมีประกาศให้มีการยกเลิกการใช้คลอร์ไพรีฟอสและพาราควอตและจำกัดการใช้ไกลโฟเซตแล้ว ดังนั้นเพื่อปกป้อง สุขภาพของประชาชนกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะดำเนินการเฝ้าระวังการปนเปื้อนทั้ง 3 สารอย่างต่อเนื่องและ ครอบคลุมทุกพื้นที่
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : “ศ.ดร.พรพิมล” ยืนยันงานวิจัยผลกระทบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่อเด็กทารกเป็นข้อเท็จจริง!!
- 119 views