กระทรวงสาธารณสุขร่วมมหิดลจับมือคณะแพทย์ 3 รพ. แจงรายละเอียดการร่วมวิจัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทุกขั้นตอน ย้ำพบพาราควอตตกค้างในซีรั่มมารดาและขี้เทาทารก
วันที่ 31 ส.ค.63 ที่อาคาร 100 ปีการสาธารณสุขไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมควบคุมโรค จัดแถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงงานวิจัยของ ศ.ดร พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง ผลกระทบต่อพฤติกรรมประสาทของเด็กทารกจากการขาดไอโอดีนและการรับสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Neonatal Neurobehavioral impacts of Iodine deficiency& pesticide exposures: A baseline for intervention) ร่วมกับ รศ.ดร. จักร์กฤช หิรัญเพชรรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, นพ.วิโรจน์ ธนสารไพบูลย์ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จังหวัดนครสวรรค์, พญ.นภาพร เกียรติดำรงค์ โรงพยาบาลอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ และพญ. นันทา จรูญรุ่งสิริกุล โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จังหวัดกาญจนบุรี
ศ.ดร พรพิมล กองทิพย์
ศ.ดร.พรพิมล กล่าวถึงขอบเขตงานวิจัยว่า ผลงานวิจัยทั้งหมดดำเนินการในปี 2553 เป็นการทำงานร่วมกับโรงพยาบาล 3 แห่ง และทีมแพทย์ทั้งหมดมีชื่อปรากฏในงานวิจัยทั้งสิ้น มีหนังสือตอบรับการเข้าร่วมงานวิจัยจากโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่ง และได้รับใบรับรองทางจริยธรรมแล้ว ทั้งนี้ตัวอย่างในการวิเคราะห์ได้มาจากการเก็บเลือดหญิงตั้งครรภ์ที่เข้ามาฝากครรภ์ 28 สัปดาห์ กับโรงพยาบาล โดยเก็บตัวอย่างเลือด ปัสสาวะ และน้ำนมของมารดา ขี้เทาและเลือดจากสายสะดือทารก
โดย นพ.วิโรจน์ พญ.นภาพร และพญ.นันทา กล่าวว่า ตนเองเป็นหมอเด็ก มีความสนใจและได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับงานวิจัยนี้ ตนเองรับผิดชอบเก็บข้อมูลช่วง 72 ชม. หลังคลอด และตรวจพัฒนาการของระบบประสาทของเด็กแรกเกิด ซึ่งการประเมินดังกล่าวต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้แพทย์ที่ร่วมวิจัยทั้งหมดล้วนเป็นกุมารแพทย์ที่ผ่านการอบรม สอบปฏิบัติจากโรงพยาบาลรามาธิบดีและได้รับใบอนุญาตแล้วตามมาตรฐานสากล อีกทั้งยังมีพยาบาลผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กทำการร่วมประเมิน บันทึกวีดีโอ และส่งให้ผู้เชี่ยวชาญประเมินด้วย โดยแพทย์จากโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่งได้ยืนยันว่าได้เข้าร่วมโครงการวิจัยนี้
ศ.ดร.พรพิมล สรุปผลการวิจัย พบว่า 1) ระดับสารออร์แกโนฟอสเฟตของหญิงตั้งครรภ์ และแรกคลอด และลดลงเมื่อคลอดแล้ว 2 เดือน ซึ่งสัมพันธ์กับการศึกษาของต่างประเทศหลายแห่ง เมื่อเด็กอายุ 5 เดือน พบว่าหากแม่มีระดับออร์กาโนฟอสเฟตในปัสสาวะสูง จะทำให้เด็กมีความฉลาดทางสติปัญญาลดลง ประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็ก-ใหญ่ลดลง และสัมพันธ์กับการตอบสนองของเด็กต่อสิ่งเร้าด้วย 2) หลังคลอดเมื่อตรวจในเลือดมารดาและสายสะดือพบพาราควอต 20% และพบไกลโฟเซตสูงถึง 50 % แสดงให้เห็นว่าสารดังกล่าวส่งต่อจากแม่ไปถึงลูก 3) นอกจากนี้ยังตรวจพบพาราควอตในหญิงตั้งครรภ์ และในขี้เทาเด็กแรกเกิดรวมถึงในน้ำนมมารดาก็พบออร์แกโนฟอสเฟตหลายตัวอีกด้วย
นายสุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) กล่าวว่า งานวิจัยนี้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ผู้วิจัยย่อมยินดีให้ตรวจสอบได้ แต่หากเป็นการใช้สิทธิที่ไม่สุจริต หรือใส่ความให้ผู้วิจัยเสื่อมเสียชื่อเสียงโดยไม่เป็นธรรม เช่น กล่าวหาว่าข้อมูลเป็นเท็จ จะเรียกได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาท จะมีความผิดทั้งทางแพ่งและอาญา และหากนำถ้อยคำดังกล่าวไปเผยแพร่ เช่น ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ถือว่ามีความผิดฐานการหมิ่นประมาททางการโฆษณา ขอให้ดำเนินการให้ถูกต้อง
ศ.ดร.พรพิมล และคณะแพทย์ ยืนยันว่าจะยืนหยัดจะทำงานวิชาการที่ถูกต้องเพื่อประโยชน์ของสุขภาพประชาชนต่อไป เช่นเดียวกับ นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน รองอธิบดีกรมวิทยาศาตร์การแพทย์ กล่าวสรุปว่า กรมควบคุมโรค และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะเป็นผู้ให้การสนับสนุนการทำงานวิจัย เพราะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐซึ่งต้องทำหน้าที่ในการเฝ้าระวัง พร้อมจะปกป้องประชาชนเช่นเดียวกัน โดยจะลงสำรวจ และเก็บตัวอย่างผักผลไม้ รวมทั้งแหล่งน้ำเพื่อดูผลกระทบที่เกิดจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ในชุมชนเพื่อปกป้องคุ้มครองสุขภาพประชาชนไปพร้อมๆกันด้วย
- 154 views