กรมควบคุมโรคเปิดรับฟังความคิดเห็นแก้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ถึง 1 กันยายน 2563 ผ่านทางเว็บไซต์ www.ddc.moph.go.th/index.php หวังเพิ่มอำนาจควบคุมโรค

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้กรมอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อพรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 และประเด็นของร่างพรบ.โรคติดต่อ (ฉบับที่...)พ.ศ.... ตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม – 1 กันยายน 2563 เนื่องจากพรบ.เดิมมีการบังคับใช้มา 5 ปี รวมถึง เมื่อนำมาใช้จริงในสถานการณ์โรคโควิด-19 ซึ่งเป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลก เป็นสถานการณ์วิกฤตก็พบว่ามีปัญหา จึงต้องมีการทบทวน เนื่องจากเดิม พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ออกแบบไว้สำหรับการควบคุมโรคแบบเล็กน้อย หรือเฉพาะบุคคล เช่น กรณีไข้เหลือง ที่ห้ามเข้าประเทศ หรือให้มีการกักกัน มีการฉีดวัคซีน แต่ไม่ได้ครอบคลุมถึงการระบาดขนาดใหญ่หรือระดับนานาชาติเช่นนี้ และไม่ได้ครอบคลุมเรื่องของมาตรการเชิงป้องกันที่จะมีบทลงโทษหากไม่ปฏิบัติตาม

 

ยกตัวอย่าง เมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤตจะห้ามเครื่องบินไม่ให้เข้าประเทศ พรบ.โรคติดต่อไม่สามารถห้ามได้ การดำเนินงานโควิดในครั้งนี้ จึงต้องไปอาศัย พรบ.การเดินอากาศ เพราะฉะนั้น พรบ.โรคติดต่อ ถือว่ามีฤทธิ์เดชไม่มาก จัดการได้ทีละน้อยคน การปรับปรุง พรบ.โรคติดต่อ จึงเป็นการแก้ไขเพื่อเพิ่มฤทธิ์เดชในการควบคุมโรคขนาดใหญ่ที่ระบาดรุนแรง และมีมาตรการป้องกันได้ เช่น การห้ามเครื่องบินเข้าประเทศอาจต้องแก้ไขว่าขอยืมใช้บางมาตราของ พรบ.ฉบับอื่นได้หรือไม่ เมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤต 

 

นพ.โสภณ กล่าวว่า ส่วนมาตรการเชิงป้องกัน ที่ผ่านมาเป็นเพียงคำแนะนำ อย่างเรื่องการใส่หน้ากาก ซึ่งหากใส่ทั้งผู้ป่วยและคนปกติทั้งคู่ ประสิทธิผลป้องกันได้ถึง 98.5% สูงกว่าวัคซีนที่ประสิทธิผลอยู่ที่ 50-70% เราก็ไม่มีมาตราไหนบังคับคนใส่หน้ากาก ซึ่งบางประเทศมีทั้งโทษปรับและจำคุก เช่น สิงคโปร์ แต่ไทยจะมีการลงโทษแค่มาตรการเชิงควบคุม เช่น สั่งให้กำจัดเชื้อในบ้านเมื่อพบการระบาดแล้วไม่ทำ เป็นต้น ดังนั้น การปรับแก้กฎหมายให้มีมาตรการเชิงป้องกัน อาจกำหนดให้ต้องสวมหน้ากาก หรือเรื่องของความแออัดต่างๆ ในภาวะวิกฤต หากฝ่าฝืนมีบทลงโทษ เพราะหากไม่ใช่สถานการณ์วิกฤตแล้วไปบังคับก็จะรู้สึกว่าไม่สมเหตุสมผล แต่ปัญหาคือตอนนี้แม้แต่ภาวะวิกฤตเราก็บังคับไม่ได้

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในประกาศกรมควบคุมโรค เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นต่อประเด็นของร่างพรบ.โรคติดต่อ (ฉบับที่...) พ.ศ... ลงนามโดยนพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563 ระบุส่วนหนึ่งว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปเป็นระยะเวลานาน ทั้งนี้ หากมีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามพรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ย่อมส่งผลให้ข้อกำหนด ประกาศและคำสั่งตามพรก.ดังกล่าวถูกยกเลิกตามไปด้วย ซึ่งมาตรการทางกฎหมายตามพรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ยังไม่เพียงพอต่อการจัดการปัญหาได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ โดยมีประเด็นที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งควรบัญญัติเป็นกฎหมาย เพื่อนำมาใช้ดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตรายและโรคระบาด เช่น 

    

1.การให้ราชการบริหารส่วนกลางมีอำนาจในการออกประกาศหรือคำสั่งเพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดได้อย่างเหมาะสม และตามความจำเป็น เพื่อให้ทันต่อสถานการณืของโรค ทั้งนี้ กรณีทั่วราชอาณาจักรหรือเฉพาะบางพื้นที่ เช่น การกำหนดให้บุคคลที่จะเข้าไปในสถานที่สาธารณะของพื้นที่ ซึ่งมีการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออย่างกว้างขวางต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า 2.การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขของผู้เดินทางในการเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน หรือควบคุมโรคติดต่ออันตรายและโรคระบาดมิให้มีการแพร่ระบาดในราชอาณาจักร เช่น การกำหนดให้ผู้เดินทางต้องมีใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าผู้เดินทางดังกล่าวไม่มีเชื้อโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด 

    

3.การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขของสถานที่ซึ่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อใช้สำหรับแยกกัก หรือกักกันผู้ที่เป็น หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย หรือโรคระบาด เช่น ประเภทของสถานที่ หรือลักษณะ หรือมาตรฐานของสถานที่สำหรับเป็นที่แยกกักหรือกักกันผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด

 

4. การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขในการกำกับดูแล การได้มา การเข้าถึงการเก็บรักษา การนำไปใช้ หรือการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตรายและโรคระบาด เช่น การให้ติดตั้งแอพพลิเคชั่นหรือการใช้ระบบติดตามอาการของผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด หรือ การให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นของผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายและโรคระบาด

 

5. การกำหนดให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีอำนาจสั่งการหรือมอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดได้อย่างเหมาะสม ทันสถานการณ์ และเป็นไปในแนวทางเดียวกัน 6. การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ผู้ที่พำนักอยู่ในราชอาณาจักรซึ่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อมีคำสั่งให้แยกกัก กักกันหรือคุมไว้สังเกตเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกับบุคคลตามมาตรา 41 และ 42 แห่งพรบ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการใช้สถานที่เพื่อใช้แยกกักหรือกักกัน ค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดสถานที่หรือยานพาหนะ และ7. การกำหนดให้บุคคลที่พบว่าตนเป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย และโรคระบาดมีหน้าที่แจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ เช่นเดียวกับบุคคลตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ. ศ. 2558 

 

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นระหว่างวันที่ 18 สิงหาคม – 1 กันยายน 2563 ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมควบคุมโรค www.ddc.moph.go.th/index.php