"สาธิต" เผยหากประกาศใช้ พ.ร.ก.โรคติดต่อเมื่อไหร่ อำนาจสั่งการอยู่ที่คกก.ควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติ ใช้โครงสร้างใหม่กรณีภาวะฉุกเฉิน เป็นนายกฯ นั่งประธาน พร้อมย้ำไม่มีการนิรโทษกรรมคณะผู้บริหาร โดยหากประกาศใช้มีผลย้อนหลัง มี.ค. 63
เมื่อวันที่ 21 ก.ย.2564 นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) กล่าวถึงกรณีที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 พ.ศ. ...เพื่อให้เป็น พ.ร.ก.โรคติดต่อ ว่า เป็นการเห็นชอบแต่ละประเด็น ไม่มีการนำเสนอตัวร่าง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเองก็ไม่ได้เสนอตัวร่าง แต่เสนอความต้องการไป ดังนั้น จึงมีการแก้ไขและเพิ่มมาตรา 44/13 ใจความสำคัญเกี่ยวกับการป้องกันเจ้าหน้าที่ บุคลากรการแพทย์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานโควิด-19 แต่ไม่รวมคณะผู้บริหาร เช่น รัฐมนตรี โดยมีผลย้อนหลังไปถึงเดือน มี.ค.2563 ยืนยันว่า ไม่ได้มีการนิรโทษกรรม เพราะตามหลัก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ครอบคลุมอยู่แล้ว ทั้งนี้ (ร่าง)พ.ร.ก.โรคติดต่อ ก็มีการเพิ่มโทษปรับในผู้ที่กระทำความผิดเกี่ยวกับโรคติดต่อที่มากขึ้นด้วย
"ร่างตัวนี้ เมื่อผ่านมติ ครม.แล้ว หลังจากนั้นจะออกเป็น พ.ร.ก.โรคติดต่อ ซึ่งเป็นอำนาจของท่านนายกรัฐมนตรีในการลงนาม แต่จะลงนามเมื่อไหร่ก็ขึ้นอยู่กับท่านนายกฯ จะเห็นชอบตามความเหมาะสม ซึ่งทุกคนก็จะได้เห็นตัวประกาศพร้อมกันในราชกิจจานุเบกษา" นายสาธิต กล่าว
เมื่อถามว่า หากมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.โรคติดต่อ ดังกล่าวแล้ว จะต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และยุบ ศบค. ที่ตั้งขึ้นมาภายใต้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้วยหรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า ไม่มีแล้ว ส่วนอำนาจสั่งการจะอยู่ที่คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติ โดยที่ในภาวะฉุกเฉินจะมีโครงสร้างใหม่ คือ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรีเป็นรองประธาน ส่วนคณะกรรมการต่างๆ ประกอบด้วย รมว. และรมช. กระทรวงมหาดไทย รมว.และรมช. สาธารณสุข รวมถึงปลัดกระทรวงฯ ด้วย
เมื่อถามกรณีพ.ร.บ.โรคติดต่อจะมีการแก้ไขคู่ขนานระหว่างใช้ พ.ร.ก.โรคติดต่อหรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า พ.ร.บ.โรคติดต่อ อยู่ในระหว่างปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเล็กน้อย หลังจากนั้นก็จะนำเข้าสภาฯ ตอนนี้ก็ออก พ.ร.ก. มาใช้ก่อน ซึ่งในอนาคตหากแล้วเสร็จก็จะมีการประกาศใช้ต่อไป
(ข่าวเกี่ยวข้อง : ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ หากเกิดโรคระบาดไม่ต้องใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน)
- 52 views