“หมอธีระวัฒน์” เผยความสำเร็จนักวิทยาศาสตร์จากบริษัท ใบยา คนไทยทำเองใส่รหัสพันธุกรรมลงในใบยาสูบชนิดพิเศษจนได้โปรตีนพัฒนาเป็นวัคซีนและแอนติบอดี แต่เสียดายไร้ภาครัฐสนับสนุนสานต่อวิจัยในมนุษย์ และผลิตในระดับโรงงาน
เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 63 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวถึงความสำเร็จของนักวิทยาศาสตร์ไทยเกี่ยวกับเรื่องโควิด-19 ว่า ล่าสุดนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ของไทย โดยบริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม สามารถพัฒนาวัคซีนโควิด-19 และแอนติบอดีในการยับยั้งไวรัสได้สำเร็จ ซึ่งบริษัทใบยา ที่ถูกตั้งขึ้นโดยนักวิทยาศาสตร์ของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ โดยตั้งบริษัทสตาร์ทอัพขึ้นจากการสนับสนุนหลายภาคส่วน ทั้งจุฬาฯ ศิษย์เก่าจากจุฬาฯ และ พันธมิตรต่างๆ ซึ่งการวิจัยพัฒนาได้ใช้เทคนิคการใส่รหัสพันธุกรรมลงไปในใบยาสูบชนิดพิเศษ ที่ไม่ใช่ยาสูบที่ใช้สูบทั่วไป หลังจากนั้นเมื่อใส่รหัสพันธุกรรมลงไป ใบยาสูบจะทำปฎิกิริยาและสร้างเป็นโปรตีนขึ้นมา
“จากการใช้เทคนิคดังกล่าวในการใส่รหัสพันธุกรรมในใบยาสูบจนได้โปรตีน ได้นำมาพัฒนาสำเร็จใน 2 ส่วน คือ 1.วัคซีนป้องกันโควิด -19 ซึ่งผ่านการทดลองในหนู และลิงเรียบร้อยแล้ว เหลือทดลองในคน เนื่องจากต้องนำมาทำให้บริสุทธิ์ก่อนฉีดคนมนุษย์ได้ โดยวิธีนี้แตกต่างจากเทคนิค mRNA และ 2.แอนติบอดียับยั้งเชื้อไวรัส ซึ่งสามารถนำมาพัฒนาในการรักษาผู้ที่มีอาการติดเชื้อ เบื้องต้นทดสอบในห้องปฏิบัติการแล้วว่า สามารถยับยั้งไวรัสได้จริง” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว
เมื่อถามว่าความสำเร็จดังกล่าวมีการต่อยอดอย่างไร ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ต้องมีการผลิตให้บริสุทธ์ด้วยโรงงานที่มีศักยภาพ ซึ่งต้องลงทุนสูง จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกับภาครัฐ ขณะที่ตัวแอนติบอดียับยั้งเชื้อไวรัสนั้นผ่านการทดสอลในห้องทดลอง แต่ต้องผ่านการทดสอบระดับอื่นด้วย จึงจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนเช่นกัน
“ที่น่าเสียดายคือ โครงการนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเสนอทั้งกระทรวงสาธารณสุข หรือสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ก็ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ซึ่งจริงๆเรื่องนี้หากภาครัฐมาร่วมสนับสนุน จะทำให้สำเร็จได้มากขึ้น เพราะขณะนี้เดินมากว่าครึ่งทางแล้ว” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า โครงการนี้ถือเป็นครั้งแรกจากการพัฒนามาจากใบยาสูบหรือไม่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ไม่ใช่ เทคนิคนี้มีการใช้มากกว่า 15 ปี แต่ทางเภสัชฯ จุฬาฯ โดย ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ และ ดร. วรัญญู พูลเจริญ พร้อมด้วยทีมวิจัยมีการทำมากว่า 12 ปีแล้ว ซึ่งหลายคนไม่ทราบว่า จริงๆ ต้นไม้สามารถสร้างโปรตีนได้ เพียงแต่ต้องมีการชักนำด้วยใส่รหัสพันธุกรรมลงไป โดยต้นไม้อย่างใบยาสูบก็ต้องเป็นชนิดพิเศษอีกด้วย อย่างไรก็ตาม บริษัทใบยา ไม่ได้ทำแค่เรื่องนี้ ก่อนหน้านี้ยังได้พัฒนาโปรตีนอื่นๆ เช่น ยาต้านอีโบลา ไข้สมองอักเสบ หรือเซรุ่มพิษสุนัขบ้า แต่เมื่อมีเรื่องโควิด-19 เข้ามา จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่หันมาทำเพื่อช่วยเหลือประเทศชาติด้วย
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : เปิดโฉม! นักวิจัยสตาร์ทอัพจุฬาฯ อีกความสำเร็จวัคซีนโควิด-19 โปรตีนจากใบยาสูบ
- 118 views