สธ.เผยเมียนมามีผู้ป่วย 602 ราย ติดโควิดในประเทศแล้ว 2 สัปดาห์ พบระบาดในรัฐยะไข่ แม้ภายในประเทศจะมีมาตรการเข้ม แต่ไทยยังห่วงแรงงานลักลอบเข้าเมืองตามพรมแดนธรรมชาติ ขอชะลอนำเข้าแรงงานจากพื้นที่ระบาดจนกว่าสถานการณ์ดีขึ้น
วันที่ 28 ส.ค. นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด-19 ประจำวันว่า ขณะนี้ผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นในหลายประเทศและหลายทวีป ขณะที่ประเทศไทยไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศมากว่า 3 เดือนแล้ว ระยะหลังเป็นผู้ติดเชื้อเดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักตัว โดยมีจำนวน 473 ราย ติดเป็น 48.96% ของการติดเชื้อนำเข้า ส่วนผู้ป่วยโควิดระดับโลกมียอดรวมแล้วกว่า 24.6 ล้านราย เป็นผู้ป่วยรายใหม่ 2 แสนกว่าราย อัตราป่วยเสียชีวิต 3.4% โดย "อินเดีย" ยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่า 7 หมื่นราย ส่วนในเอเชียใต้ บังกลาเทศ มีผู้ป่วยสะสม 3 แสนกว่าราย ปากีสถาน 2.9 แสนราย โดยประเทศไทยยังมีผู้เดินทางกลับมาจาก 2 ประเทศนี้
นพ.โสภณกล่าวว่า สำหรับในอาเซียน เวียดนามมีการระบาดระลอก 2 ในช่วงเดือนกว่าๆ ที่ผ่านมา แต่สถานการณ์ดีขึ้น มีผู้ป่วย 1,036 ราย ล่าสุดเพิ่มขึ้น 2 ราย ด้านมาเลเซียมีผู้ติดเชื้อรายใหม่น้อยลงโดยวันที่ผ่านมาพบ 5 ราย ยอดสะสม 9,200 กว่าราย ขณะที่ประเทศพม่าที่เดิมมีการติดเชื้อเป็นคนที่มาจากต่างประเทศเหมือนกับไทย แต่ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นการติดเชื้อในประเทศ มีรายงานแล้ว 602 ราย โดยวันที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 22 ราย โดยระบาดในรัฐยะไข่ ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของประเทศ โดยฝั่งตะวันตกของประเทศพม่ายังมีพรมแดนติดกับบังกลาเทศและอินเดียที่มีการระบาด มาตรการสำคัญที่พม่าทำอยู่ คือ ให้ประชาชนอยู่กับบ้าน เหมือนที่ไทยเคยรณรงค์ มีการประกาศเคอร์ฟิวช่วงเวลา 21.00 - 04.00 น. คนเดินทางออกจากยะไข่จะถูกกักตัว 14 วัน และให้กักในที่พักอีก 7 วันรวม 21 วัน
"พื้นที่พรมแดนของไทยมีการเข้มงวดการป้องกันการเข้ามามากขึ้น มีการเฝ้าระวังโควิดในแรงงานต่างด้าวในพื้นที่พรมแดน แต่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ ซึ่งเราต้องเฝ้าระวังต่อ ไม่ให้มีปัญหาเชื้อนำเข้า ทั้งนี้ ไทยมีพรมแดนทางบกหลายร้อยกิโลเมตร ทำให้ยากลำบากที่จะเฝ้าระวัง ซึ่งบริเวณพรมแดนมีด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ แต่การลักลอบเข้ามาจะอยู่นอกช่องทางเข้าออกทางการ ฝ่ายมั่นคง ทั้งทหาร และปกครอง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับมอบหมายในระยะนี้ให้เพิ่มความเข้มงวด ความถี่ในการตรวจตรา เพื่อป้องกันการลักลอบ หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่พรมแดน อสม. ท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ช่วยกันสอดส่องคนแปลกหน้าในพื้นที่ หากพบให้แจ้งเจ้าหน้าที่ เมื่อมีการจับตัวจะมีการตรวจหาเชื้อ ว่ามีเชื้อหรือไม่ เพื่อประเมินความเสี่ยง" นพ.โสภณกล่าว
นพ.โสภณกล่าวว่า สำคัญที่สุด คือ ประชาชนช่วยกันหลีกเลี่ยงเดินทางในพื้นที่ที่พบการระบาด ชะลอการนำแรงงานมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งตอนนี้คือรัฐยะไข่ ขอให้รอให้สถานการณ์ดีขึ้น หากปลอดภัยก็ดำเนินการต่อได้ ส่วนพื้นที่ที่ไม่มีการระบาดก็ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องชะลอ เนื่องจากพม่ามีการล็อกดาวน์รวดเร็ว ใช้กลยุทธ์เดียวกับประเทศไทยเมื่อตอน มี.ค. ก็ถือว่าเขาเอาอยู่ โดยความเสี่ยงจากรัฐยะไข่ที่อยู่ฝั่งซ้ายยังมาไม่ถึงฝั่งขวาของประเทศที่ติดกับไทย อย่างล่าสุด พื้นที่จังหวัดตาก จะมีบริษัทก่อสร้าง นำเข้าแรงงานจากพม่า 400 ราย ซึ่งก็อยู่ระหว่างการจัดทำสถานกักกันโดยองค์กร (Organizational Quarantine : OQ) ซึ่งก็ให้อยู่ได้ 2 คนต่อ 1 ห้อง ส่วน OQ อื่นๆ ที่มีการขออนุญาตจัดตั้ง เช่น สถาบันการศึกษาที่มีอาจารย์และนักเรียนนักศึกษาต่างชาติเข้ามา
นพ.โสภณกล่าวว่า หลายประเทศเริ่มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นระยะนี้ เช่น ยุโรป หลายรัฐของสหรัฐอเมริกา ทวีปอเมริกาใต้ เอเชียก็มีหลายประเทศกำลังมีผู้ป่วยเพิ่มระลอกที่ 2 เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม ดังนั้น เรื่องสำคัญคือคนไทยต้องเคร่งครัดมาตรการป้องกันตัว ป้องกันการแพร่เชื้อ สวมหน้ากากผ้า หน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง เลี่ยงในสถานที่แออัด ทำตามคำแนะนำ สแกนไทยชนะเมื่อเข้าไปสถานที่ต่างๆ เพื่อติดตามได้อย่างรวดเร็วหากมีการติดเชื้อ โดยเฉพาะช่วงหยุดยาวที่จะถึงนี้
- 27 views