ปลัดกระทรวงมหาดไทย ประสานผู้ว่าฯจังหวัดและผู้ว่าฯ กทม. ขอให้แจ้งนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้เกี่ยวข้องที่มีพื้นที่ติดต่อชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน หรือช่องทางธรรมชาติ ระมัดระวังป้องกันการลักลอบเข้าไทยผิดกฎหมาย หลังพบเมียนมาติดเชื้อระลอก 2 ล็อกดาวน์ไม่มีกำหนด

ตามที่มีข่าวการลักลอบเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาประเทศไทย จนฝ่ายความมั่นคงมีการจับกุม ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า จะทำให้มีความเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 หรือโควิด-19 เกิดขึ้นภายในประเทศไทยหรือไม่

ภาพจาก กระทรวงมหาดไทย PR

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสั่งการ พร้อมประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงนามในหนังสือแจ้งหน่วยราชการภายในกระทรวงมหาดไทย หรือที่เรียกว่า โทรสารในราชการกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 27 ส.ค. 2563

เนื้อหาระบุว่า ตามโทรสารในราชการกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่มท 0230/ว 4946 ลงวันที่ 23 ส.ค. ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด แจ้งนายอำเภอให้เน้นย้ำ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านของพื้นที่ที่ติดต่อกับชายแดนของประเทศเพื่อนบ้าน หรือมีช่องทางผ่านแดนที่เป็นช่องทางธรรมชาติ ให้ระมัดระวังป้องกัน ไม่ให้มีการลักลอบเดินทางเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 63 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้รายงานข้อมูลผู้ติดเชื้อในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จากการระบาดระลอกที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค. 63 จำนวน 580 ราย ซึ่งผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ที่รัฐยะไข่ เมืองซิตตเว ซึ่งเป็นเมืองเอก จนทำให้มีการล็อกดาวน์เมืองซิตตเวอย่างไม่มีกำหนดตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค. 2563 ที่ผ่านมา

ดังนั้น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในจังหวัดชายแดนที่มีพื้นที่ติดต่อกับชายแดนของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำชับและเน้นย้ำ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ดำเนินการเพิ่มเติม ดังนี้

1.การเดินทางเข้ามาในประเทศผ่านช่องทางการเข้าออก ด่าน จุดผ่านแดน หรือจุดผ่อนปรนในพื้นที่รับผิดชอบ ให้ดำเนินการตามมาตรการและแนวทางปฏิบัติของการป้องกันโรคสำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรฯ ตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด

2.บูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ชายแดนเพื่อเพิ่มความเข้มงวด เฝ้าระวัง ป้องกันการเดินทางเข้าพื้นที่ของบุคคลจากประเทศเพื่อนบ้านไม่ให้มีการลักลอบเดินทางเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ผ่านช่องทางธรรมชาติบริเวณชายแดน ซึ่งหากพบกรณีดังกล่าว ให้ดำเนินการตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องและมาตรการป้องกันโรคที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเข้มงวด