กมธ. สธ. วุฒิสภา หารือ “อนุทิน” ขับเคลื่อนงานปฏิรูปสาธารณสุข เน้นหน่วยบริการปฐมภูมิให้บริการครอบคลุมลดความแออัด รพ.ใหญ่ ขณะที่ “หมอณรงค์” อดีตปลัดสธ. ชงกระจายอำนาจหลักประกันสุขภาพสู่พื้นที่
เมื่อวันที่ 27 ส.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) หารือร่วมกับคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา มี นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา และ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองประธานคณะกรรมาธิการฯ เพื่อร่วมหารือการขับเคลื่อนงานด้านสาธารณสุข
นายอนุทิน กล่าวว่า ในวันนี้ คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ได้มาหารือและติดตามการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะด้านการแพทย์ปฐมภูมิ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญถือเป็นหัวใจหลักในการให้บริการขั้นพื้นฐานในระดับชุมชน มีการประชุมกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขเป็นระยะ และผลักดันให้ “คนไทยทุกครอบครัวมีหมอประจำตัว 3 คน” ได้แก่ หมอประจำบ้าน หมอสาธารณสุข และหมอครอบครัว เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการดูแลสุขภาพใกล้บ้าน และได้รับฟังข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการ ฯ พร้อมนำไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
นพ.เจตน์ กล่าวว่า สำหรับเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือโครงการบัตรทอง มีการดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งมีประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมาก แต่ก็มีประเด็นปลีกย่อย ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของโครงการทั่วไปที่มีปัญหาเล็กน้อยก็แก้ไขกันไป แต่ประเด็นที่มาวันนี้ คือ การปฏิรูป ซึ่งทางรัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ซึ่งประชุมไป 2-3 ครั้ง ซึ่ง ส.ว.ก็มีอนุกรรมาธิการที่ติดตาม และเสนอแนะการปฏิรูปประเทศเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์ปฐมภูมิ ซึ่งถือเป็นหัวใจของการปฏิรูป แม้จะเป็นงานปกติที่กระทรวงฯ ทำ แต่เราอยากเร่งรัดให้ทำเร็วขึ้น และให้ประชาชนเข้าถึงอย่างครอบคลุม เพราะการจะลดความแออัดจากโรงพยาบาลศูนย์(รพศ.) โรงพยาบาลทั่วไป(รพท.) ไปสู่หน่วยบริการปฐมภูมิ ทั้ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) รวมทั้ง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ช่วยในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จะเป็นตัวช่วยในการลดความแออัดของการรับบริการได้
นพ.เจตน์ กล่าวถึงกรณีนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ว่า เข้าใจว่ายังเป็นนโยบาย แต่จริงๆ ต้องทดลองก่อนในการที่จะผลักดันโครงการอะไร หรือปรับเปลี่ยนโครงการอะไรที่ใช้ทั้งประเทศ เพราะยังไม่รู้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องย้ำว่า หลักการของบัตรทองคือ ใกล้บ้าน ใกล้ใจ ใกล้ที่ทำงาน ซึ่งเป็นหลักการที่เกิดขึ้นตั้งแต่แรก ดังนั้น ถ้าวันหนึ่งจะเปลี่ยนเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนก็อาจต้องทดลอง หรือค่อยๆปรับเปลี่ยน และดูผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง สิ่งสำคัญต้องยึดหลักการเดิม คือ “ใกล้บ้าน ใกล้ใจ ใกล้ที่ทำงาน” ไม่เช่นนั้นจะเกิดการกระจุกตัวของผู้ป่วยมาใช้บริการด้วย
ด้าน นพ.ณรงค์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือ การปฏิรูปในเรื่องการกระจายอำนาจให้กับเขตพื้นที่ในเรื่องของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และให้ประชาชนมาร่วมบริหารโรงพยาบาล หลักๆ คือ ลดอำนาจรัฐ และเพิ่มอำนาจประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาการบริหารในรูปนี้ยังไม่ชัดเจน โดยหลักแล้วกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องกระจายอำนาจให้เขตพื้นที่ เพื่อให้พื้นที่บริหารโดยมีประชาชนมาร่วมในการกำหนดทิศทาง เพราะแต่ละพื้นที่จะมีปัญหาแตกต่างกันไป หากให้พื้นที่มาดำเนินการตรงนี้เองจะช่วยแก้ปัญหาได้
- 83 views