เมื่อวันที่ 6 มี.ค. นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ รองประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ "เดลินิวส์" ถึงการประชุมกรรมาธิการเพื่อพิจารณาปัญหาความล่าช้าในการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนกระดับอุตสาหกรรมที่ ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ว่า ล่าสุดคณะกรรมาธิการฯได้ทำหนังสือถึง นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ให้รีบตัดสินใจแก้ไขปัญหาโดยอาจตกลงราคากับบริษัทรับเหมาก่อสร้างให้เรียบร้อยหรืออาจจะยกเลิกสัญญา โดยพิจารณาให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ในส่วนของคณะกรรมาธิการคงไม่หยุดเพียงแค่นี้จะติดตามต่อไปว่าความล่าช้าเกิดจากสาเหตุใด
"ปัญหานี้ต้องให้รัฐบาลตัดสินใจว่าจะสร้างต่อหรือไม่ เหตุที่ยังสร้างต่อไม่ได้เนื่องจากยังตกลงราคากันไม่ได้ เพราะบริษัทรับเหมาก่อสร้างขอราคาเพิ่มอีกประมาณ 90 ล้านบาท แต่ทาง อภ.ต่อรองราคาเหลือ 45 ล้านบาท ดังนั้นต้องให้รัฐบาลตัดสินเพื่อความรวดเร็ว ดีกว่าคั่งค้างเจรจากันไม่เสร็จสักที"นพ.เชิดชัย กล่าวและว่า ที่ผ่านมาพยายามเชิญ ผอ.อภ.มาให้ข้อมูล 2 รอบแล้ว แต่ติดธุระโดยมอบให้รอง ผอ.อภ.มาชี้แจงแทน ในฐานะแพทย์ด้วยกันก็ไม่ว่าอะไร แต่ถ้าเชิญครั้งที่ 3 มาให้ข้อมูลในวันอังคารที่ 12 มี.ค.นี้ แล้วไม่มาคงต้องมีมาตรการดำเนินการต่อไป
นพ.เชิดชัย กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการฯได้เชิญที่ปรึกษาโครงการซึ่งเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยชื่อดังมาให้ข้อมูล ทางอาจารย์จากมหาวิทยาลัยก็เห็นจุดอ่อนและเสนอแนะไป แต่คนที่มีอำนาจตัดสินใจคือ อภ.ซึ่งไม่รู้ว่าล่าช้าเพราะอะไร เป็นเพราะมือไม่ถึงหรืออย่างไร เพราะจากการชี้แจงข้อมูลบ้างอ้างว่าที่ล่าช้าเพราะสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และที่ปรึกษาโครงการ แต่พอเชิญ อย.มาให้ข้อมูลกลับได้รับคำตอบว่าเมื่อเรื่องมาถึงก็ดำเนินการให้ทันที
รองประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวต่อว่า ราชการไทยยิ่งล่าช้ายิ่งมีช่องทางในการหาผลประโยชน์ เหมือนกรณีการก่อสร้างโรงพัก 396 แห่ง ได้เงินไปแล้ว เงินก็เอาไปใช้แล้วคล้ายทำนองอย่างนั้น เราก็อยากรู้ว่ามือไม่ถึง หรือมีอะไรอยู่เบื้องหลังหรือไม่ อย่างไรก็ตามถ้ารัฐบาลอนุญาตให้สร้างต่อ ก็ต้องมีคนรับผิดชอบที่ทำให้เกิดความเสียหาย ทั้งนี้ยิ่งล่าช้ารัฐบาลยิ่งเสียค่าโง่ เพราะต้องจ่ายค่าเสียหายให้บริษัทเพิ่มขึ้น ส่วนประชาชนไม่ได้ใช้ประโยชน์เสียเวลาเสียโอกาส
--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 8 มี.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 1 view