แพทย์ค้านแยกเงินเดือนออกจากเงินรายหัว หวั่นบุคลากรกระทรวงหมอเพิ่ม-งบประมาณพุ่ง ชี้หากแยกจริงชนบทวุ่น ไม่มีคนทำงานปฐมภูมิ-ขาดแคลนแพทย์ประจำครอบครัวแน่ โรงพยาบาลใหญ่จะทะเลาะกับโรงพยาบาลเล็ก
นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์
นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ อดีตหัวหน้าศูนย์โรคหัวใจสิริกิติ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงข้อเสนอแยกเงินเดือนบุคลากรสาธารณสุขออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวในกองทุนบัตรทอง ตอนหนึ่งว่า ตอนแรกที่ฟังดูก็คิดว่าการแยกน่าจะมีผลดี แต่เมื่อมาพิจารณาดีๆ แล้วก็พบว่าคงไม่ใช่ เพราะหากบุคลากรในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีมากอยู่แล้ว หากมีการแยกเงินเดือนออกไปแล้วก็มีโอกาสที่จะขยายออกไปไม่สิ้นสุด และหาก สธ.มุ่งเน้นแต่การเพิ่มเงินเดือนขึ้นเรื่อยๆ ก็จะใช้งบประมาณสูงอย่างไม่มีการจำกัด นั่นเพราะ สธ.มีอำนาจในการชงเองและทำเองโดยที่ไม่มีการกำกับ
นพ.เชิดชัย กล่าวว่า เรื่องของการแยกเงินเดือนนั้น จำเป็นต้องนำข้อมูลกำลังคนของทุกสังกัดออกมาเปิดให้เห็นตัวเลขและภาระงานอย่างชัดเจนก่อนว่าจริงๆ แล้ว สธ.ให้บริการทั้งประเทศอยู่ในสัดส่วนเท่าใด อาจจะอยู่ที่ 50-52% แล้วส่วนที่เหลือใครเป็นผู้ให้บริการอยู่ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย กองทัพ กระทรวงมหาดไทย เทศบาล กรุงเทพมหานคร ฯลฯ ซึ่งหาก สธ.จะแยกเงินเดือนออกไปเฉพาะในส่วนของตัวเอง ก็เท่ากับเป็นการทำงานโดยไม่วางแผนและมีโอกาสจะไปทับซ้อนกับหน่วยงานอื่นๆ
“ส่วนตัวคิดว่าควรที่จะรวมเงินเดือนเอาไว้ในงบเหมาจ่ายรายหัวเหมือนเดิม คือทำให้เหมือนเดิมไปก่อน จากนั้นก็รอเวลาจนกว่าข้อมูลจะชัดเจนว่าถ้าแยกไปแล้วคนของ สธ.จะกระจายตัวอยู่อย่างไร และมีการเพิ่มขึ้นอย่างไร ที่สำคัญคือควรเอากำลังคนในระบบสาธารณสุขจากทุกสังกัดมาดู เพราะสังกัดอื่นๆ เขาก็มีเงินเดือนของเขา เช่น อาจารย์แพทย์ หมอทหาร เทศบาล กทม.ก็มีเงินเดือนของตัวเองทั้งสิ้น และเขาเหล่านั้นก็ได้แยกเงินเดือนของเขาออกไปแล้ว” นพ.เชิดชัย กล่าว
นพ.เชิดชัย กล่าวอีกว่า หากแยกเงินเดือนออกไป โรงพยาบาลสังกัด สธ.บางแห่งก็จะจ้างคนมากไป บางแห่งก็จะน้อยไป แต่ขณะนี้ทั้งหมดถูกบีบให้พอดีด้วยการจ่ายเงินจาก สปสช.ที่ไปซื้อบริการทุกที่ คือบีบบังคับว่าให้พื้นที่นี้ๆ มีบริการและพัฒนาการบริการไป ถ้าพื้นที่ใดมีโรงพยาบาลขนาดเล็กแล้วรักษาโรคได้บางโรคก็ให้รักษาตามเงื่อนไขบางโรค ถ้าเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่มีศักยภาพก็สามารถรักษาได้ทุกโรค สปสช.ก็จ่ายเงิน
“ถ้ามีการแยกเงินเดือนออกไปจริง ปัญหาจะเกิดขึ้นกับโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งแน่นอนว่าแพทย์หรือบุคลากรในระบบคงไม่ต้องการไปอยู่ ขณะที่โรงพยาบาลใหญ่มีภารกิจมากก็ต้องการดึงคนเข้ามาเพิ่มเรื่อยๆ แล้วใครจะเป็นผู้ทำหน้าที่บริการปฐมภูมิในแต่ละท้องถิ่น ใครจะทำหน้าที่เป็นแพทย์ประจำครอบครัว” นพ.เชิดชัย กล่าว
นพ.เชิดชัย กล่าวต่อไปว่า ได้ไปตรวจที่โรงพยาบาลเอกชนที่เข้ามาร่วมในโครงการผ่าหัวใจ พบว่าหลายแห่งมีสถานที่เหลือเยอะ แพทย์พยาบาลเหลือมาก คำถามคือเหตุใดเราไม่ใช้เขาเหล่านั้น โดยเงื่อนไขที่จ่ายค่าบริการให้เขาอย่างสมเหตุสมผล
“หลักการที่ควรจะเป็นคือระบบสาธารณสุขต้องเป็นระบบเดียวกันทั่วประเทศ และมีการดึงเอกชนมาช่วยรับผิดชอบในบางอย่าง ในบางภารกิจ ถ้าแยกเงินเดือนก็มีปัญหาอีก มีความขัดแย้งระหว่างโรงพยาบาลใหญ่กับโรงพยาบาลเล็ก” นพ.เชิดชัย กล่าว
- 236 views