เจ้าของผลงานวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและวงการศึกษา TTF AWARD ประจำปี 2562-2563 เสนอรัฐเปิดช่อง “ทำแท้งปลอดภัย” เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้หญิง ระบุปัญหาท้องไม่พร้อมซับซ้อน จึงควรให้เขาเหล่านั้นเป็นผู้เลือกเอง
รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะผู้เขียนหนังสือเรื่อง “เถียงกันเรื่องแท้ง: สุขภาพ เสรีภาพ ศีลธรรม” ซึ่งได้รับรางวัลผลงานวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและวงการศึกษา TTF AWARD ประจำปี 2562-2563 เปิดเผยว่า แม้ว่าประเทศไทยจะยกเว้นให้สามารถยุติการตั้งครรภ์ (ทำแท้ง) ได้เป็นบางกรณี แต่ภาพรวมแล้วกฎหมายไทยก็ยังกำหนดให้การทำแท้งเป็นอาชญากรรมประเภทหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม แม้การทำแท้งจะมีความผิด มีบทลงโทษ แต่เรายังคงเห็นคนเลือกที่จะทำอยู่ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไปของแต่ละตัวบุคคล ซึ่งเขาเหล่านั้นก็รู้ดีว่าจะเกิดผลกระทบกับชีวิตและสุขภาพ หรือถูกตีตราและประณามว่าเป็นคนไร้ศีลธรรม
รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ กล่าวว่า จากงานวิจัยและรวบรวมสถิติปัญหาท้องไม่พร้อม พบว่าไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นเยาวชนเท่านั้น หากแต่ยังมีผู้หญิงในกลุ่มอื่นๆ ที่ต้องเผชิญกับปัญหานี้อีกไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้านอายุ 30 ปีขึ้นไป ที่แต่งงานมีครอบครัวมีสามีแล้ว โดยปัญหาเรื่องท้องไม่พร้อมเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน เชื่อมโยงไปถึงปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม ฉะนั้นทุกคนควรเปิดใจกว้างในเรื่องนี้
“เมื่อใดก็ตามที่สังคมไทยเปิดทางเลือกการเข้าถึงบริการที่ปลอดภัย จะทำให้ผู้ที่เผชิญกับสถานการณ์ท้องไม่พร้อม ได้พิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมกับตัวเองได้ดีที่สุด การจะทำแท้งหรือไม่ทำควรจะเป็นทางเลือกของตัวเขาเอง ไม่ใช่รัฐเป็นคนเลือกไว้ให้ เพราะเราไม่ใช่เขา จึงไม่มีทางรู้ว่าเขาต้องเผชิญกับแรงกดดันอะไรบ้างในชีวิต ดังนั้นทางออกคือควรเปิดทางเลือกไว้ให้เขาเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัย คือถ้าคุณคิดว่ามันเป็นเรื่องผิดศีลธรรมผิดบาป ก็ให้เจ้าตัวเป็นคนเลือกเองว่าจะทำบาปไหม” รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ กล่าว
รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ เชื่ออย่างหนักแน่นว่า ประชาธิปไตยมีส่วนสำคัญมากในการผลักดันให้ประตูทางเลือกยุติการตั้งครรภ์ในบ้านเราเปิดกว้างสำหรับทุกคน เพราะประชาธิปไตยในฐานะระบบที่เปิดกว้าง จะเปิดโอกาสให้คนกลุ่มต่างๆ ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนโต้เถียงกัน ร่วมกันวางกติกาในเรื่องนี้ว่าควรจะเป็นอย่างไร ในทางกลับกันในระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยน้อยหรือไม่เป็นเลย รัฐเป็นผู้ตัดสินใจให้ว่าเรื่องไหนถูกเรื่องไหนผิด ทำให้การถกเถียงคิดใคร่ครวญถึงสถานการณ์ของผู้คนถูกตัดออกไป
“ถ้าเราเชื่อว่าพลเมืองมีความสามารถในการเลือกตัวแทนทางการเมือง ที่เป็นรากฐานของประชาธิปไตยแบบมีตัวแทนได้ เหตุใดเราจึงไม่เชื่อว่าพลเมืองเพศสภาพหญิง มีความสามารถในการเลือกจัดการเรื่องเพศและการเจริญพันธุ์ของตัวเอง รวมถึงการเลือกจะไม่ตั้งครรภ์และเลือกยุติการตั้งครรภ์ ทั้งที่เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นกับร่างกายของเธอเอง” รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ กล่าว
ทั้งนี้ หนังสือเรื่อง “เถียงกันเรื่องแท้ง: สุขภาพ เสรีภาพ ศีลธรรม” ได้ประมาณการณ์สถิติการทำแท้งในสังคมไทยไว้ว่า อยู่ที่ราวๆ ปีละ 3 แสนราย ขณะที่อัตราการเสียชีวิตจากการทำแท้งไม่ปลอดภัย อยู่ที่ 300 คน โดยในปี 2558 รัฐต้องใช้งบประมาณเพื่อการรักษาผู้หญิงที่เจ็บป่วยจากการทำแท้งไม่ปลอดภัย 132 ล้านบาท
- 446 views