“ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ” คาดสิ้นปี 2563 ผู้ติดเชื้อราว 50 ล้านคน เสียชีวิต 1-5 ล้าน ส่วนวัคซีนน่าจะสำเร็จสิ้นปีนี้ ขณะที่กรณีข่าวหญิง 2 ราย ที่จ.ชัยภูมิและเลย เห็นว่าไม่ได้ติดภายในสถานที่กักกัน และไม่ใช่ติดเชื้อในประเทศ

เมื่อวันที่ 21 ส.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าว “การระบาดของโรคโควิด 19 ระลอก 2 การกลายพันธุ์” ภายในการแถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโรคโควิด-19 ว่า แม้ประเทศไทยจะไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อภายในประเทศมานานเกือบ 90 วันแล้ว แต่การระบาดในต่างประเทศยังเกิดขึ้นอย่างหนัก ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 22 ล้านคน เสียชีวิต 7.7 แสนคน อัตราเพิ่ม 4 วัน 1 ล้านคน และเมื่อดูจากอัตราเพิ่มเช่นนี้แล้ว

“ในสิ้นปี 2563 ทั่วโลกจะมีผู้ติดโควิดราว 50 ล้านคน และเสียชีวิต 1-5 ล้านคน สิ่งที่เป็นความหวัง คือ ยารักษาที่จะลดความรุนแรงของโรค ที่ใครติดเชื้อก็ได้แต่ไม่เป็นปวดบวม และเสียชีวิต รวมถึง วัคซีน ซึ่งส่วนตัวมั่นใจว่าภายในสิ้นปี 2563 จะมีการศึกษาวิจัยพัฒนาวัคซีนสำเร็จ เพราะขณะนี้มีกว่า 6 บริษัทที่มีการทดลองในมนุษย์ระยะที่ 3แล้ว จึงน่าจะมีอย่างน้อย 1-2 บริษัทที่สำเร็จ” ศ.นพ.ยง กล่าว

ศ.นพ.ยง กล่าวถึงกรณีการตรวจเจอเศษซากชิ้นส่วนไวรัสที่ก่อโรคโควิดและภูมิคุ้มกันในหญิงสาวชาวชัยภูมิและเลย หลังเดินทางกลับมาจากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือยูเออีและเข้ากักตัวในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้จนครบ 14 วันแล้วว่า รายแรกชาวจ.ชัยภูมิ ตรวจเจอซากไวรัสหลังวันเข้าไทยประมาณ 75 วัน และรายที่ 2 ตรวจเจอหลังเข้าไทย 50 วัน ส่วนตัวคิดว่าไม่ได้ติดภายในสถานที่กักกันและไม่ได้เป็นการติดเชื้อในประเทศไทย เพราะไทยไม่มีการติดเชื้อในประเทศมานานกว่า 80 วันแล้ว

“อีกทั้ง ผลการตรวจเชื้อผู้ใกล้ชิดขณะนี้ก็ยังไม่มีใครติดเชื้อ จึงเป็นไปได้สูงที่จะติดเชื้อจากต่างประเทศแน่นอน ส่วนตอนที่เข้ามาอยู่ในสถานที่กักกันอาจจะหายแล้ว ไม่มีอาการและมีปริมาณเชื้อที่น้อยมากๆขณะอยู่ในสถานที่กักกันจึงตรวจไม่เจอ แต่เมื่ออกจากสถานที่กักกันตรวจพบก็เกิดขึ้นได้ เพราะการติดตามในผู้ที่หายป่วยและมาบริจาคพลาสม่าก็สามารถตรวจเจอชิ้นส่วนของไวรัสเช่นกัน แต่ไม่ใช่ตัวไวรัส และติดตามผู้ใกล้ชิดก็ไม่มีใครติดเชื้อ” ศ.นพ.ยง กล่าว

ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า วิธีการตรวจเชื้อไวรัสไวมาก แม้มีไวรัสเพียง 1-2 ตัวก็หาเจอ เพราะการตรวจในปัจจุบันใช้เทคโนโลยีสูง สามารถขยายไวรัสจาก 1 ตัว เป็นล้านๆเท่า เพราฉะนั้น หากหลงเหลืออยู่เพียงเศษซากชิ้นส่วนไวรัสก็สามารถตรวจเจอ แต่กรณีที่บางครั้งตรวจไม่เจอหากมีน้อยมากก็เกิดขึ้นได้ เพราะอาจไปหลบอยู่ตรงจุดที่ป้ายคอไม่โดนในครั้งหนึ่ง แต่เมื่อตรวจซ้ำป้ายคอจุดอื่นก็อาจเจอ จึงไม่แปลกที่หากมีปริมาณน้อยมากจะไม่เจออีกไม่กี่วันอาจตรวจเจอ แต่การเจอกจะเป็นปริมาณที่น้อยๆมากๆ และการเจอซากไวรัสก็ต้องนำไปเพาะเชื้อว่าสามารถแบ่งตัวได้หรือไม่ หากไม่ได้ก็กับแพร่เชื้อต่อไม่ได้ ซึ่งกรณีเป็นซากชิ้นส่วนใดส่วนหนึ่งของไวรัส โอกาสที่จะกลายเป็นตัวไวรัสเกิดได้ยาก อาจจะต้องใช้วิธีการโคลนนิ่ง และยังไม่ใช่การระบาดระลอก2

“ กรณีที่หลายคนคิดว่า จะระบาดระลอก 2 หรือไม่นั้น ก็ต้องเปรียบเทียบได้ว่า ตอนนี้เรากักน้ำไว้นอกบ้าน บ้านเราแห้ง แต่อย่าลืมว่า กำแพงกั้นน้ำมีกว้างมาก ทั้งทะเล ดินแดนตามธรรมศาสตร์ จึงไม่รู้ว่าจะรั้วเข้ามาเมื่อไหร่ แต่หากเรามีมาตรการดี ถ้ารั้วเข้ามาเราควบคุมได้ เหมือนหากมีเชื้อเข้ามาและเราควบคุมไม่ให้เกิดระบาดใหญ่ได้ก็เป็นเรื่องดี” ศ.นพ.ยง กล่าว

 

* อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : แถลงคืบหน้ากรณีตรวจเชื้อซ้ำ! หญิงจ.เลย หมอรามาเผยไม่ถือเป็นผู้ป่วยแล้ว

                              : สธ.แถลงร่วม รพ.รามาฯ ตรวจรายแรกพบซากไวรัส ไม่แพร่เชื้อ อีกรายขอตรวจซ้ำ!