“บรรณกร เสือสิงห์” ผอ.รพ.สต.เหล่าหญ้า จ.เพชรบูรณ์ พบผู้สูงวัยติดเตียงอยู่บ้าน เหตุลูกหลานต้องทำงาน ผุดแนวคิด‘Day Care’ ดูแลเหมือนเอกชน แต่เป็นความร่วมมือภาครัฐ ท้องถิ่น ปชช. ฯลฯ หนำซ้ำค่าใช้จ่ายถูกกว่า

สปสช. พร้อมรพ.สต.เหล่าหญ้า ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง

 

“จากการลงพื้นที่เยี่ยมผู้ป่วยถึงบ้านพบว่า มีผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะติดบ้านติดเตียง ลูกหลานไม่สามารถดูแลได้ตลอดเวลา เพราะต้องไปประกอบอาชีพ ทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ดังนั้น ช่วงเวลาที่หายไปอาจเกิดปัญหาที่เราไม่รู้ แต่หากเรามีระบบการบริการเพื่อดูแลผู้สูงอายุกลุ่มนี้ ก็จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของพวกท่านได้..”  นายบรรณกร เสือสิงห์ ผู้อำนวยการ รพ.สต. เหล่าหญ้า กล่าวขึ้นเมื่อถูกถามถึงปัญหาการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุในชุมชน ระหว่างการลงพื้นที่ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) โดยมี นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการ สปสช. นำทีมสื่อมวลชนศึกษาดูงานศักยภาพของหน่วยบริการปฐมภูมิ...

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) เหล่าหญ้า ตำบลแคมป์สน อำเภอเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ เป็นอีกหน่วยบริการปฐมภูมิที่ให้บริการการดูแลสุขภาพ ตรวจคัดกรอง และรักษาพยาบาลเบื้องต้นให้แก่ประชาชนในชุมชน และยังเป็นโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการตรวจคลื่นหัวใจ เพื่อช่วยคัดกรองกลุ่มเสี่ยง หากพบจะส่งต่อไปยัง โรงพยาบาลเขาค้อ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนทันที ขณะเดียวกันยังมีระบบการบริการที่หลากหลาย ทั้งการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุ เนื่องจากในตำบลมีผู้สูงอายุที่มีอายุเฉลี่ย 70-80 ปี รวมทั้งหมดประมาณ 800 คน ส่วนใหญ่ติดสังคม และพบมีภาวะติดเตียงราว 30 คน ซึ่งโรคที่พบบ่อย คือ เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจและหลอดเลือด ฯลฯ

“ที่ผ่านมาเรามี Caregiver หรือผู้ดูแล ลงพื้นที่ไปดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง แต่ก็ไม่สามารถดูแลได้ตลอดเวลา ขณะที่ลูกหลานก็ต้องไปทำงานนอกบ้าน ผู้สูงอายุอาจอาการรุนแรง หรือเกิดอุบัติเหตุขึ้น รวมทั้งพวกท่านยังรู้สึกเหงาที่ต้องอยู่คนเดียว ทาง รพ.สต.เหล่าหญ้า จึงมองว่าหากเราจัดระบบการดูแลผู้สูงอายุรูปแบบ “ Day Care” หรือการดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงใน 1 วันได้จะเป็นเรื่องดี ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย ประคับประคองอาการป่วยได้” ผู้อำนวยการ รพ.สต.เหล่าหญ้า กล่าว

นายบรรณกร เสือสิงห์ ผู้อำนวยการ รพ.สต. เหล่าหญ้า

สำหรับระบบการให้บริการรูปแบบ “ Day Care” นั้น จะพัฒนา Caregiver มาดูแล และจะมีอาคารสถานที่เพื่อรับผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวมาดูแลแทนญาติ โดยช่วงเช้าเรารับมาดูแล และช่วงเย็นญาติมารับกลับ นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดกรณีกลุ่มผู้สูงอายุที่มาท่องเที่ยวกับครอบครัว และบางครั้งครอบครัวไม่สะดวกก็ต้องการคนดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งสามารถมาฝากกับทางเราและมารับตอนเย็นได้ ส่วนอาคารสถานที่นั้นก็จะใช้พื้นที่ที่มีอยู่แล้ว แต่งบประมาณก็ต้องพิจารณาความเหมาะสม ว่าอาคารมีกี่ชั้น กี่เตียง เป็นต้น โดยการหางบมาสร้างอาคารนั้น จะเป็นเรื่องของความร่วมมือทุกภาคส่วนเข้ามาทั้ง สปสช. สธ. ภาคประชาชนสังคม เพื่อร่วมกันคิดร่วมกันทำ จากนั้นก็จะมีเรื่องพัฒนาศักยภาพบุคลากร และการจัดระบบบริการ หากทำได้ก็จะเป็นครั้งแรกของระบบบริการปฐมภูมิที่ทำงานร่วมกับทุกฝ่าย ทั้งรัฐ เอกชน และภาคประชาชนในพื้นที่ เพราะชาวบ้านก็ต้องเห็นด้วย จึงจะทำได้เช่นกัน 

 

นายบรรณกร กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมี Caregiver ของตำบลแคมป์สนประมาณ 15 คน ตอนนี้ก็เชื่อมกับทางท้องถิ่น โดยท้องถิ่นกำลังรับสมัครอาสานักบริบาลเพิ่มเติม ที่จะมีค่าตอบแทนเพิ่มมากขึ้นให้กับ Caregiver เพื่ออบรมเพิ่มเติมและมาจัดระบบร่วมกัน โดยค่าตอบแทนของนักกบริบาลชุมชนประมาณเดือนละ 6,000 บาท ซึ่งมีระเบียบของกระทรวงมหาดไทย และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาเชื่อม เป็นการแบ่งตามภารกิจของหน่วยงาน โดยท้องถิ่นมีหน้าที่ในการจัดงบประมาณที่จะทำ ส่วนกระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่ในการเอาระบบเข้าไป

อย่างไรก็ตาม งบประมาณในการดูแลผู้สูงอายุนั้น ใช้งบจากกองทุนระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care : LTC) ของสปสช. โดยเฉลี่ยดูแลผู้สูงอายุตกหัวละ 5,000 บาทต่อคนต่อปี ส่วน Caregiver ที่ไปดูแลจะได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ยเดือนละ 300-600 บาทต่อการดูแลผู้สูงอายุ 1 คน ต่อการดูแลเดือนละอย่างน้อย 4-8 ครั้ง

ชมรมผู้สูงอายุที่ รพ.สต.เหล่าหญ้า 

ผอ.รพ.สต.เหล่าหญ้า ยังกล่าวว่า จริงๆ คนที่ไปดูแลเป็นเหมือนเครือญาติมากกว่า เป็นจิตอาสามากกว่า และตอนนี้มีจิตอาสาของในหลวงก็ยิ่งทำให้พวกเขาภาคภูมิใจ แต่หากจะเข้าระบบ Day Care หรือการดูแลเป็นรายวันค่าใช้จ่ายย่อมสูงขึ้นแน่นอน แต่จะถูกกว่าเอกชน อย่างที่เคยเห็นเอกชนจัดการดูแลผู้สูงวัยกลุ่มนี้เฉลี่ยเดือนละไม่ต่ำกว่า 25,000-30,000 บาท ซึ่งจะทำได้หรือไม่ก็ต้องอยู่ที่นโยบาย ทั้งส่วนสปสช. และสธ.ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่

นอกจากนี้ เรายังมีการทำแบบผสมผสานในการรักษาด้วยการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ซึ่งมีเรื่องสมุนไพร จากการที่เชื่อมโยงกับ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จ.พิษณุโลก โดยจะมีสวนสมุนไพรของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งมีสมุนไพรไม่น้อยกว่า 300 ชนิดมาลงที่นี่ด้วย ขณะนี้กำลังหารือกันอยู่ เบื้องต้นสวนสมุนไพรคาดว่าจะสำเร็จในปีงบประมาณ 2564 เพื่อให้เป็นแหล่งผลิต และนำสมุนไพรมาใช้ทางการแพทย์แผนไทย

ทั้งหมดคือ แนวคิด ของ รพ.สต.เหล่าหญ้า ส่วนจะเป็นจริงหรือไม่ คงต้องรอดูระดับนโยบายว่าเห็นด้วยมากน้อยแค่ไหน...