นักวิชาการเผยผลวิจัยมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด เตือนวัยรุ่นสูบบุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโควิด แค่ลองสูบเสี่ยงติดเชื้อเพิ่ม 5 เท่า สูบร่วมกับบุหรี่ธรรมดาเสี่ยงเพิ่ม 7 เท่า ชี้เหตุเพราะบุหรี่ไฟฟ้าทำลายปอด
เมื่อวันที่ 12 ส.ค. ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยงานวิจัยชิ้นใหม่จากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์ในวารสารสุขภาพวัยรุ่น หรือ Journal of Adolescent Health เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งได้สำรวจกลุ่มเด็กและวัยรุ่นในสหรัฐฯ อายุ 13-24 ปี จำนวน 4,351 คน เก็บข้อมูลการสูบบุหรี่ไฟฟ้า บุหรี่ธรรมดา ประวัติการตรวจหาเชื้อ และอาการป่วยด้วยโรคโควิด-19 จากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่ไฟฟ้า กับการติดเชื้อโควิด โดยควบคุมปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น อายุ เพศ สถานะทางสังคม เชื้อชาติ น้ำหนักตัว และความร่วมมือในการกักตัวที่บ้าน ฯลฯ โดยผลการวิจัยพบว่า วัยรุ่นที่เคยลองสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้น 5 เท่า และถ้าเคยลองสูบทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดา หรือสูบบุหรี่ทั้งสองประเภทเป็นประจำพบเสี่ยงติดเชื้อโควิดสูงขึ้นเป็น 7 เท่า และพบว่ากลุ่มที่สูบทั้งสองประเภทนี้เมื่อติดเชื้อจะแสดงอาการสูงขึ้นถึง 5 เท่า เมื่อเทียบกับวัยรุ่นที่ไม่เคยสูบบุหรี่
“การสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นการทำลายปอด ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่างๆ รวมทั้งโควิด-19 งานวิจัยหลายชิ้นสรุปว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้ปอดแย่พอๆ กับการสูบบุหรี่ธรรมดา การสูบบุหรี่ไฟฟ้าในวัยรุ่นเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงเพราะบุหรี่ไฟฟ้าถูกออกแบบมาให้มีความทันสมัยเพื่อเจาะตลาดกลุ่มวัยรุ่น ตัวบุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคตินทำให้เสพติด วัยรุ่นส่วนมากไม่รู้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าเสพติด จึงไปทดลองใช้จนติดเลิกไม่ได้ พบว่าวัยรุ่นที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน เมื่อลองสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะมีโอกาสเริ่มสูบบุหรี่ธรรมดาเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า จนกลายเป็นว่าติดทั้งบุหรี่ธรรมดาและบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมีอันตรายเพิ่มขึ้นอีก” ดร.พญ.เริงฤดี กล่าว
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ปัญหาที่แท้จริงของบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้อยู่ที่ผู้คนถกเถียงกันว่า บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายมากหรือน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา ซึ่งยังต้องรอเวลาให้มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าไปอีกระยะหนึ่งเพื่อพิสูจน์ แต่ปัญหาที่แท้จริงคือ บุหรี่ไฟฟ้ามีสารเสพติดนิโคตินเป็นยาสูบชนิดใหม่ที่วัยรุ่นชื่นชอบ ทำให้วัยรุ่นที่ไม่สูบบุหรี่เข้ามาสูบและเสพติดนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นการสร้างปัญหาทางสาธารณสุข จากการเกิดกลุ่มประชากรรุ่นใหม่ที่เสพติดนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งส่วนใหญ่จะเลิกไม่ได้ไปตลอดชีวิต ซึ่งการป้องกันเยาวชนไม่ให้ติดสิ่งเสพติดชนิดใหม่นี้ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้กว่า 40 ประเทศรวมทั้งประเทศไทย ห้ามนำเข้าและขายบุหรี่ไฟฟ้า
ที่มา:
Gaiha SM, Cheng J & Halpern-Felsher B. Association between youth smoking, electronic cigarette use and Coronavirus Disease 2019. Journal of Adolescent Health. 2020. (https://www.jahonline.org/article/S1054-139X(20)30399-2/fulltext)
Khouja JN, Suddell SF, Peters SE, Taylor AE, Munafò MR. Is e-cigarette use in non-smoking young adults associated with later smoking? A systematic review and meta-analysis. Tobacco Control. 2020. (https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/32156694/)
- 109 views