ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์โควิดฯ เผยงบ 600 ล้านใช้เพื่อพัฒนาบริษัทคนไทยให้มีประสิทธิภาพรองรับเทคโนโลยีวัคซีนโควิด19 ส่วนเจรจาม.ออกฟอร์ด เหตุมีความก้าวหน้าตั้งเป้าถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ปท.ที่พร้อม
เมื่อวันที่ 24 ก.ค. นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. กล่าวถึงกรณีมีรายงานข่าวว่าประเทศไทยเตรียมไปเจรจาขอซื้อวัคซีนป้องกันโควิด -19 จากมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด ด้วยงบประมาณ 600 ล้านบาท ว่า เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน ข้อเท็จจริงคือตอนนี้มหาวิทยาลัยออกฟอร์ด โดยความร่วมมือกับผู้ผลิตวัคซีนของเขาเองมีการพัฒนาวัคซีนก้าวหน้า มีความเป็นไปได้ที่จะสำเร็จในเร็วๆ นี้ เพราะมีการทดลองในคนกว่า 1 พันคน โดยการฉีดวัคซีนในคนเข็มแรกให้การตอบสนองที่ดีมาก 90% มีภูมิต้านทาน ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยออกฟอร์ด มีวัตถุประสงค์ว่าหากพัฒนาวัคซีนสำเร็จจะให้คนทั้งโลกได้ใช้วัคซีนนี้ด้วย ด้วยราคาที่ไม่มีกำไร แต่ถ้าผลิตเองคงไม่เพียงพอ จึงมีการพิจารณาโรงงานผลิตวัคซีนในแต่ละทวีปว่ามีที่ไหนมีศักยภาพที่จะผลิตได้ ก็จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ ซึ่งในเอเชียก็ได้ที่อินเดีย
นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า ในขณะที่ประเทศไทย เราเองก็มีบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ที่สามารถรองรับการผลิตได้ จึงมีการหารือว่าถ้าเราสามารถรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาได้ก็จะเป็นการผลิตวัคซีนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำเลย ดังนั้นตนจึงขอให้รัฐบาลเป็นตัวแทนไปเจรจามหาวิทยาลัยออกฟอร์ด เพื่อขอถ่ายทอดเทคโนโลยีมาให้คนไทยผลิต ส่วนงบ 600 ล้านบาท ก็จะใช้เพื่อการพัฒนาบริษัทของคนไทยเพื่อให้มีประสิทธิภาพพอที่จะรองรับกับเทคโนโลยีที่เขาจะให้มา ซึ่งตอนนี้ก็อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อม โดยคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ลงไปตรวจสอบโรงงานผลิตแล้วคาดว่าจะสามารถให้การรับรองมาตรฐาน GMP ได้ประมาณเดือนก.ย.นี้
นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า ในการเจรจานั้น ประเทศไทยเรามีทีมบริษัทสยามซีเมนต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มีความสัมพันธ์ที่ดีกับมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด ดังนั้นจะร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศไปเป็นผู้เจรจา ทำความยืนยันเพื่อรับเทคโนโลยีมาผลิต ซึ่งอันนี้มีความเป็นได้ที่สุด เพราะทำได้เร็วที่สุดแห่งหนึ่งในโลก หากเขาทำสำเร็จ แล้วเราได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมานั้น เราจะสามารถผลิตได้หลังจากนั้นประมาณ 6 เดือน ซึ่งกำลังการผลิตของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด จะผลิตได้คือ 200 ล้านโดส ถือว่าเป็นปริมาณมากจึงสามารถนำไปช่วยเหลือกลุ่มประเทศในอาเซียนได้อีกด้วย
นพ.ปิยะสกล กล่าวด้วยว่า ส่วนการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศไทย โดยคนไทย นั้น ยืนยันว่า ไม่ว่าจะเป็นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหน่วยงานต่างๆ ที่อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยนั้น ก็จะไม่หยุดเดินหน้า รัฐบาลจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน
ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณ 3,500 ล้านบาท เพื่อใช้ในการสนับสนุนในเรื่องวัคซีน ตั้งแต่การค้นคว้า วิจัย พัฒนา และลงทุนในประเทศ โดยมอบหมายให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติเป็นผู้ดูแล ดังนั้นการใช้งบประมาณ 600 ล้านบาท ที่มีการกล่าวถึงนั้นก็จะอยู่ในงบ 3,500 ล้านบาทนี้
แฟ้มภาพ
- 14 views