กรมควบคุมโรคเผยโอกาสไทยติดเชื้อโควิด19 ภายในประเทศย่อมมี แต่จะจัดการไทย และต้องใช้วิถีชีวิตใหม่แบบไม่เหมือนเดิม ด้านรองปลัดสธ.ห่วงโรคเรื้อรัง เน้นสร้างสุขภาวะเพิ่ม
เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าว “โครงการสุขภาวะของคนทำงานด้วย Healthy Living และการประกวดคลิปวิดีโอฐานวิถีชีวิตใหม่ในสถานประกอบการกรณีโควิด-19” ว่า ก่อนที่จะมีโรคโควิด-19พบปัญหาจากการสำรวจสุขภาพประชาชนด้วยการตรวจร่างกาย คือ โรคเบาหวานในประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นจาก 7 % เป็น 9 % ในรอบ 5 ปีเพิ่มขึ้นถึง 2 % ของคนอายุ 15 ปีขึ้นไป หรือราว 1 ล้านคน เช่นเดียวกับโรคความดันโลหิตสูง จาก 20% เป็น 24. 7 % ปัจจุบันประเทศไทยมีคนเป็นเบาหวานเกือบ 4 ล้านคน และความดันโลหิตสูงเกือบ 10 ล้านคน กระจายในทุกกลุ่มอายุและอยู่ในผู้สูงอายุมากกว่า ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังและส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง เมื่อโรคโควิด-19เข้ามายิ่งซ้ำเติมมากขึ้น จึงมีความสำคัญที่จะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างสุขภาวะในกลุ่มคนทำงานและทุกกลุ่มผู้คนหรือ healthy leaving
ด้านนพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า หลังมีการผ่อนปรนระยะต่างๆภาคสังคมและภาคกิจการก็จะมีการดำเนินกิจการกิจกรรมมากขึ้น แต่ที่สำคัญแม้ว่าสถานการณ์ในประเทศจะดีแต่ทั่วโลกยังมีปัญหา เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กับการผ่อนปรนเพื่อให้เศรษฐกิจสังคมขับเคลื่อน คือการดำเนินการแบบวิถีชีวิตใหม่ ซึ่งภาคส่วนที่สำคัญในเรื่องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคืออุตสาหกรรมและการค้า จึงต้องดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้โรคโควิด-119เข้าสู่สถานที่ทำงาน เพราะข้อมูลที่ท่านมาส่วนหนึ่งของผู้ติดเชื้อในประเทศไทยเป็นผู้ทำงานในภาคอุตสาหกรรม ภาคการค้าและภาคบริการ
ในเชิงการป้องกันมีการดำเนินการเรื่องอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในสถานประกอบการ แต่สิ่งที่มาเพิ่ม เสริมเติมเข้าไป คือ อาชีวอนามัยที่สามารถจะได้ผลในการป้องกันไม่ให้บุคลากรติดโรคโควิด-19 เพราะเมื่อติดก็จะต้องมีมาตรการปิดสถานที่ โดยควรจะมีการดำเนินการ 3 ระดับ ประกอบด้วย ระดับที่ 1 เจ้าของกิจการ ต้องมีความชัดเจนในการกำหนดเป็นนโยบาย ถ่ายทอดไปสู่ทุกส่วนในองค์กร และกำหนดมาตรการในการดูแลป้องกัน ระดับที่ 2 งานบุคคล เป็นส่วนสำคัญในการประเมินเรื่องการติดเชื้อและความเสี่ยงต่อสุขภาพ และระดับที่ 3 บุคคลทุกคนในองค์กร ซึ่ง 3 เรื่องต้องทำทั้งการสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่างให้เหมาะสมกับการทำงานของสถานประกอบการ
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการระบาดระลอก2ในประเทศไทย จะมีการดำเนินการอย่างไรในกรณีของสถานประกอบการ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า การตั้งเป้าว่าประเทศไทยไม่มีผู้ป่วยเลยจนกว่าจะมีวัคซีนนั้นเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง เพราะทั่วโลกมีการระบาดอยู่จำนวนมาก และท้ายที่สุดเป็นไปได้ที่จะมีการระบาดในประเทศไทย แต่จะต้องคุมการระบาดให้อยู่ในระดับที่จัดการได้ เมื่อมีผู้ติดเชื้อเกิดขึ้นก็ต้องดูแลควบคุมให้โรคสงบโดยเร็ว และหากจำเป็นต้องล็อกดาวน์ก็เลือกเฉพาะบางที่ บางแห่ง ไม่ใช่ทำทั่วประเทศ เหมือนกับที่จ.ระยองซึ่งเป็นโมเดล และเชื่อว่าจะได้รับความร่วมมือจากสถานประกอบการต่างๆเป็นอย่างดี เพราะไม่ต้องการให้เกิดการระบาดในสถานประกอบการแน่นอน
“คาดการว่าหากมีการระบาดระลอก 2 เกิดขึ้นในประเทศไทย จะจัดการให้สงบได้ จัดการให้ดีที่สุดไม่ให้เป็นแบบยอดเจดีย์แหลมและมีคนตายเป็นเบือ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องด้วยความร่วมมือของประชาชนและทุกภาคส่วนด้วย” นพ.ศุภกิจกล่าว
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ระลอกที่ 2 หากเกิดขึ้นจะไม่มีลักษณะเหมือนระลอกที่ 1 ด้วยปัจจัย 3 ข้อ คือ 1.ไม่ได้ปล่อยให้ผู้คนเดินทางเข้าประเทศโดยไม่ได้จัดการ 2.ในระลอกที่ 1 ผู้คนทั้งสังคมยังไม่มีการดำเนินการเรื่องมาตรการ สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่างเท่าที่ควร แต่ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่มากกว่า 80 % ดำเนินการ และ 3.การเตรียมความพร้อมและประสบการณ์ทั้งของภาครัฐ เอกชน และประชาชน ที่มีการบูรณาการและเตรียมทรัพยากรไว้
“หมายความว่าระลอกที่ 2 มีโอกาสเกิดการติดเชื้อภายในประเทศ แต่จะเป็นแบบจุดๆ เหมือนสะเก็ดไฟที่เกิดขึ้น และเชื่อว่าด้วยความพร้อม เมื่อเกิดขึ้นก็จะมีการเข้าไปดับได้ทัน หรือบางครั้งอาจจะลามได้ แต่เชื่อว่าด้วยมาตรการต่างๆจะจัดการได้ เพราะฉะนั้นเมื่อยืนยันว่าจัดการได้ ยืนยันในการใช้ชีวิตทางสังคมและเศรษฐกิจ เพียงแต่ต้องใช้ในวิถีชีวิตใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม ก็จะดำเนินการกิจการกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจได้ แม้ว่ารอบบ้านเราจะมีการระบาด จึงขอย้ำอีกครั้งว่าระลอก 2 จะไม่เหมือนระลอกที่ 1 เพราะเรียนรู้และร่วมมือกันมาแล้ว” นพ.สุวรรณชัย กล่าว
- 12 views