บ้านสมเด็จโพล เผยผลสำรวจ1,123 กลุ่มตัวอย่าง พบคน กทม 61 % ไม่เห็นด้วยให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทย 57.7 % คิดว่า พรก. ฉุกเฉิน ยังมีความจำเป็น 74.9 % เห็นด้วยกับการยกเลิกเคอร์ฟิว

ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพล สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 หลังมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 5 โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,123 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 8 - 11 กรกฎาคม 2563 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพล กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 หลังมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 5 ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร มี 6 สถานที่ที่มีการผ่อนปรนเพิ่มเติม ได้แก่โรงเรียน สถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัยต่าง ๆ การเปิดเรียนและรูปแบบการเรียนการสอนตามที่กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรณีห้องปรับอากาศให้คิดจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมตามขนาดพื้นที่ห้อง เกณฑ์ไม่น้อยกว่า 4 ตารางเมตรต่อผู้เข้าร่วมกิจกรรม 1 คน ในส่วนชองห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการ สามารถเปิดดำเนินการได้ตามปกติของสถานที่นั้น ๆ ขยายเวลาจากเดิมแต่ต้องไม่เกินเวลา 22.00 น. ร้านอาหารหรือเครื่องดื่มทั่วไป ภัตตาคาร สวนอาหาร โรงแรม สามารถเปิดให้บริการหลังเวลา 24.00 น. ได้ แต่งดบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ภายใน สถานที่ที่ให้บริการหลังเวลา 24.00 น. และสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบ อบ นวด โรงน้ำชา ผ่อนผันให้เปิดดำเนินการได้โดยเปิดทำการตามเวลาปกติที่กฎหมายกำหนดจนถึงเวลา 24.00 น. ของวันเดียวกัน และงดเว้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ด้านร้านเกมและร้านอินเตอร์เน็ต ให้เปิดดำเนินการได้ โดยจำกัดช่วงเวลาดำเนินการ โดยทุกกิจกรรมที่มีการผ่อนปรนให้มีการลงทะเบียนก่อนเข้าและออกจากสถานที่ ซึ่งการให้ชาวต่างชาติสามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทยทำให้เกิดความกังวลถึงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหลังจากการผ่อนปรน และความพึงพอใจต่อการทำงานของรัฐบาลและศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด 19 หรือ ศบค. ผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 หลังมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 5 โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่ามาตรการผ่อนปรนระยะที่ 5 จะทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 จะไม่เพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 53.1 มีความรู้สึกปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ในการใช้ชีวิตประจำวัน ร้อยละ 63.2 และจะมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเองหลังจากการมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 5 ร้อยละ 53.1 โดยเห็นด้วยกับการยกเลิกการห้ามออกจากเคหะสถาน(เคอร์ฟิว) ร้อยละ 74.9 และคิดว่าพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มีความจำเป็นในการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ร้อยละ 57.7

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในการทำงานของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (ศบค.) พึงพอใจมาก ร้อยละ 41.9 พึงพอใจปานกลาง ร้อยละ 53.8 และพึงพอใจน้อย ร้อยละ 4.3 ในส่วนของความพึงพอใจในการทำงานของรัฐบาลในช่วงที่เกิดการะบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 พึงพอใจมาก ร้อยละ 26.4 พึงพอใจปานกลาง ร้อยละ 55.4 และพึงพอใจน้อย ร้อยละ 18.2

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าการให้ชาวต่างชาติสามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 เพิ่มมากขึ้นร้อยละ 80.6 และไม่เห็นด้วยหรือไม่กับการให้ชาวต่างชาติสามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ร้อยละ 61