9 หน่วยงาน เดินหน้าแก้ปัญหาคนไทยไร้สถานะทางทะเบียนให้เข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพ ด้าน สสส. พบคนไร้บ้าน คนจนเมือง และกลุ่มเปราะบางอื่นๆ กว่า 5 แสนคนปัญหาการเข้าถึง ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและเจ็บป่วยเรื้อรัง
เมื่อวันที่ 8 ก.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีการลงนามบันทึกความร่วมมือ “การดำเนินงานพัฒนาการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน” ระหว่าง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อบูรณาการความร่วมมือดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ยังเข้าไม่ถึงบริการในระบบหลักประกันสุขภาพ
นายอนุทิน กล่าวว่า หนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลคือการดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นอย่างครอบคลุมและทั่วถึง มี “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” เป็นกลไกหลักดำเนินงานตลอดระยะเวลา 18 ปี ดูแลประชาชนผู้มีสิทธิกว่า 47.5 ล้านคนได้ครอบคลุมร้อยละ 99.88 อย่างไรก็ตาม จากประชากรทั้งประเทศ 66.56 ล้านคน มีจำนวน 5.2 แสนคน มีปัญหาสถานะทางทะเบียนทำให้เข้าไม่ถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพ อาทิ ไม่ได้รับแจ้งเกิด เอกสารบุคคลสูญหาย เป็นต้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเปราะบาง กลุ่มคนไร้บ้าน กลุ่มคนไร้สิทธิ ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันแก้ปัญหาเพื่อให้คนเหล่านี้ได้รับการคุ้มครองสิทธิ ดังนั้น เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการทำงานของทุกหน่วยงานตามอำนาจหน้าที่และภารกิจอย่างเป็นระบบ บูรณการงานร่วมกัน รวมถึงการพัฒนาระบบข้อมูลของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน นำมาสู่การลงนามบันทึกความร่วมมือ “การดำเนินงานพัฒนาการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน 9 หน่วยงาน” ครั้งนี้
“แม้รัฐบาลจะมีนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่วันนี้ยังมีคนไทยด้วยกันที่ไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีเลข 13 หลักทำให้เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ ความร่วมมือนี้จะเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยเติมเต็มนโยบายรัฐบาล เดินหน้าตามรัฐธรรมนูญด้านสิทธิการเข้าถึงบริการสุขภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมด้านการเข้าถึงบริการสุขภาพให้กับประชาชน” นายอนุทิน กล่าว
นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กลุ่มคนที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนเป็นบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย สันนิษฐานได้ว่าเป็นคนไทย แต่อาจมีหลักฐานบุคคลไม่เพียงพอ ตาม พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 มีบทบัญญัติเพื่อให้สถานะกับคนที่อยู่ในประเทศไทยแต่ต้องพิสูจน์ยืนยันสถานะ ตรงนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้จัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาคนไทยทีปัญหาสถานะทางทะเบียน” เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาให้กับคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน
พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า 9 หน่วยงานต่างตระหนักความสำคัญในการแก้ไขปัญหาสิทธิของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนให้เข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์มีความยินดีร่วมมือให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์แก่คนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนเพื่อประโยชน์ในการรับรองสถานะบุคคล รวมถึงการประสานเครือข่ายความร่วมมือหน่วยงานบริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ และหวังว่าความร่วมมือนี้จะสามารถร่วมกันขับเคลื่อนให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ขับเคลื่อนทำงานด้านปัญหาสถานะทางทะเบียน โดยเฉพาะกลุ่มคนไร้บ้านและกลุ่มเปราะบางในเขตเมือง ตั้งแต่ปี 2559 และพบว่ามีคนไร้บ้าน คนจนเมือง และกลุ่มเปราะบางอื่นๆ กว่า 5 แสนคนที่มีปัญหาการเข้าถึงหลักประกันทางสุขภาพ ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและเจ็บป่วยเรื้อรัง ที่ผ่านมา สสส.ร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เครือข่ายสลัมสี่ภาค สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขับเคลื่อนสร้างองค์ความรู้และสนับสนุน “การศึกษาและพัฒนาต้นแบบกลไกจุดจัดการและเครือข่ายเพื่อการแก้ไขปัญหาการเข้าไม่ถึงหลักประกันทางสุขภาพของคนไร้บ้านและคนจนเมืองที่มีปัญหาด้านสิทธิสถานะอย่างยั่งยืน” ในพื้นที่ 6 จังหวัดนำร่อง เพื่อผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ รวมถึงความร่วมมือกับ สปสช. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนากลไกและนโยบายแก้ไขปัญหาที่ครอบคลุมและยั่งยืน
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จากการทำงานของ “คณะทำงานบูรณาการพัฒนาการเข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพของกลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสถานะทาง ทะเบียน” นำมาสู่ร่วมมือที่จะส่งผลให้เกิดการประสานงานเพื่อดูแลคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนอย่างเป็นระบบ ทั้งสำรวจและค้นหาผู้ที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน สำรวจข้อมูลและต้นทุนการรับบริการสุขภาพ บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ ประสานงานด้านทะเบียน และการเข้าถึงบริการสุขภาพระหว่างรอพิสูจน์สถานะ เป็นต้น โดยภ สปสช.จะจัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศ การลงทะเบียนสิทธิ และการพัฒนาการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน
- 83 views