การกระจายตัวของคนไทยที่ไม่มีบัตรประชาชน นอกจากจะพบตามชนบท พื้นที่ป่าเขาตามแนวชายแดน หรือในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครแล้ว แม้แต่เมืองสำคัญๆทางภาคใต้ก็สามารถพบเจอได้ไม่น้อยเช่นกัน อย่างเช่นที่ จ.สงขลา พบว่ามีคนที่ไม่มีบัตรประชาชนอาศัยอยู่ในเขตเทศบาลเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญคือคนเหล่านี้มีภูมิลำเนาเดิมจากทั่วประเทศทั้งจากจังหวัดใกล้เคียงในภาคใต้ จากภาคกลาง อีสานหรือแม้แต่จังหวัดเหนือสุดในสยามอย่าง จ.เชียงราย
สมจิต ฟุ้งทศธรรม ผู้ประสานงาน ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จ.สงขลา เปิดเผยว่า คนไร้บัตรประชาชนเหล่านี้ส่วนใหญ่เดินทางมาทำงานในเรือประมงแล้วทำบัตรประชาชนหาย บ้างก็ครอบครัวแตกแยกต้องไปอาศัยอยู่กับคนอื่นแล้วไม่มีเอกสารติดตัวมาด้วย และบางกรณีพ่อแม่ก็ไม่ไปแจ้งเกิดให้ ฐานะทางเศรษฐกิจมีรายได้น้อย ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ ทั้งสวัสดิการคนจน และสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล เวลาเจ็บป่วยก็ซื้อยาทานเอง ยกเว้นเจ็บป่วยหนักจริงๆถึงจะยอมไปหาหมอ
สมจิต กล่าวอีกว่าจากสำรวจตัวเลขคนไร้บัตรประชาชนในเขตพื้นที่เทศบาลนครสงขลาประมาณช่วงปลายปี 2561 ที่ผ่านมา โดยใช้เวลาสำรวจ 2 เดือน พบตัวเลขเบื้องต้น 34 ราย แต่คาดว่าหากมีการสำรวจอย่างเต็มรูปแบบน่าจะพบจำนวนคนไร้บัตรประชาชนมากกว่าร้อยราย ที่กล่าวเช่นนี้เพราะมักได้รับแจ้งจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จาก 55 ชุมชนในเขตเทศบาลว่ามีคนไร้บัตรตรงนั้นบ้างตรงนี้บ้าง ยังไม่รวมเขตอำเภออื่นๆและจังหวัดใกล้เคียงที่น่าจะมีคนไร้บัตรประชาชนอาศัยอยู่อีก
ตัวอย่างคนไร้บัตรประชาชนจากที่ต่างๆ เช่น กานดา อยู่ดี (นามสกุลเดิม) อายุ 39 ปี ภูมิลำเนาเดิมเป็นคน อ.แม่สาย จ.เชียงราย เธอเล่าว่าตอนที่ยังเด็กพ่อติดเฮโรอีน จึงขายเธอให้คนอื่นไปทำงานเป็นเด็กล้างจาน ต่อมาพ่อแม่บุญธรรมมาพบเข้า จึงขอซื้อตัวเธอออกมาแล้วพาไปเลี้ยงดูอยู่ที่บ้านดงมะดะ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย จนกระทั่งอายุ 14 ปียังไม่ทันได้ทำบัตรประชาชน ทางญาติของพ่อแม่บุญธรรมต่อจ้าน หาว่าเป็นลูกเก็บลูกเลี้ยง ไม่ต้องการแบ่งสมบัติให้ ด้วยเหตุนี้เธอจึงออกจากบ้านหลังดังกล่าวมาอยู่ใน กทม. ก่อนจะโยกย้ายมาเรื่อยๆจนมาอยู่ที่ จ.สงขลาได้ 20 ปีแล้ว ทุกวันนี้กานดามีโรคประจำตัวเป็นโรคภูมิแพ้ แต่ส่วนมากจะซื้อยามารับประทานเอง เคยเข้าโรงพยาบาลครั้งเดียวตอนคลอดลูกเท่านั้น
ด้าน ยายปาน อายุ 70 ปี เป็นคนไร้บัตรประชาชนอีกคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนหัวป้อม เขตเทศบาลเมืองสงขลา เดิมทียายปานเป็นชาวบ้านสุเม่น อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ย้ายมาอยู่ จ.สงขลา ทำงานในร้านอาหาร ตอนอายุ 30 ปี แต่ช่วงที่มาอยู่ใหม่ๆถูกขโมยงัดห้อง เงินทองและบัตรประชาชนถูกขโมยไปหมด จะไปขอทำใหม่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเพราะเพิ่งมาจากสุโขทัย ไม่ชินพื้นที่ ไม่รู้ว่าต้องไปขอทำบัตรประชาชนที่ไหนเลยปล่อยเลยตามเลยมาจนทุกวันนี้
ยายปานเล่าว่าที่ผ่านมาสุขภาพดีร่างกายแข็งแรง แต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาเธอรับประทานทุเรียนเข้าไปแล้วเกิดอาการแสลง มีอาการมึนหัว ตามองไม่ค่อยเห็น ไปหาหมอใกล้บ้านหมอจะส่งตัวไปโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ แต่ยายไม่ยอมไปเพราะไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา จากเดิมที่ทำปลาแดดเดียวขายได้เงินวันละ 50-100 บาท แต่ตอนนี้ทำงานไม่ไหวแล้ว อาศัยอาหารและเงินที่เพื่อนบ้านช่วยเหลือจุนเจือในการเลี้ยงชีพ
บารีย๊ะ ยาดำ เจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน สมาคมผู้บริโภค จ. สงขลา กล่าวว่า การช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ค่อนข้างทำได้ยาก จากกลุ่มที่สำรวจพบ 34 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ 1.กลุ่มที่พบหลักฐาน เช่น บัตรสูติบัตร, เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก, ท.ร.14, บัตรนักเรียนหรือสมุดพกนักเรียน, ใบผ่านการเกณฑ์ทหาร (สด.43) จำนวน 11 คน และ 2.กลุ่มที่ไม่ปรากฏหลักฐานใดเลย ซึ่งเป็นกลุ่มที่จำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม โดยสืบข้อเท็จจริงไปถึง สัญชาติบรรพบุรุษ เพื่อค้นหาการมีสัญชาติไทย จำนวน 23 คน ที่ผ่านมาสามารถช่วยประสานงานให้มีบัตรประชาชนได้แล้ว 5 คน หลังจากนั้นจึงช่วยเหลือให้ลงทะเบียนใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติรวมถึงประสานงานได้รับสิทธิอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น สิทธิคนพิการ เบี้ยยังชีพผู้สูงอาย รวมทั้งได้รับเงินจาก จปฐ.เนื่องจากตกเกณฑ์ชีวัดความยากจน เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ด้าน ทพ.วิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 12 สงขลา กล่าวว่า ในพื้นที่เขต 12 มีกลุ่มเปราะบางหลักๆ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือชาวมานิซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในป่าเทือกเขาบรรทัดและเทอกเขาสันกาลาคีรี มีวิถีชีวิตที่ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับคนเมืองมากนัก และ 2. กลุ่มคนที่มีปัญหาทางสถานะ ไม่มีบัตรประชาชนหรือไม่สามารถแสดง Identity ของตัวเองได้ว่าเป็นใคร กลุ่มนี้กระจายอยู่ทั่วไป จากการสำรวจเบื้องต้นเฉพาะในพื้นที่เทศบาลเมืองสงขลาคาดว่ามีประมาณ 100 คน ส่วนใหญ่อพยพย้ายถิ่นมาจากทุกทิศทุกทาง มาเป็นแรงงานประมง แรงงานในสวนยาง หรือบางส่วนอพยพมาได้แฟนทางนี้ก็มี
"การอพยพมานี้อาจจะมาในสถาพที่ตัดขาดหรือไม่ได้ติดต่อกับทางบ้านนานมาก พอจะสืบค้นรากเหง้าก็ค่อนข้างยาก ไม่สามารถหาพยานบุคคลได้ หรืออีกส่วนมีปัญหาชีวิตตั้งแต่เยาว์วัย ไม่มีหลักฐานบุคคลติดตัวมาด้วย ไม่สามารถสืบค้นกลับไปหาพ่อแม่ได้"ทพ.วิรัตน์ กล่าว
สำหรับการดำเนินการที่ผ่านมา ทาง สปสช.เขต 12 ดำเนินการในกลุ่มชาวมานิได้เป็นรูปธรรมไปบ้างแล้ว เพราะกลุ่มนี้เคยมีกฎหมายบางฉบับรับรองว่าถ้ามีรูปพรรณสันฐานแบบชาวมานิสามารถออกบัตรประชาชนให้ได้เลย รวมทั้งมีหนังสือซักซ้อมความเข้าใจมาที่ระดับอำเภอ อย่างไรก็ตาม ผ่านมา 8-9 ปี สถานะการให้บัตรประชาชนก็ยังไม่กระเตื้อง ประกอบกับระยะหลังป่าไม้ขาดความอุดมสมบูรณ์ โรคภัยไข้เจ็บบางโรค ชาวมานิไม่สามารถรักษาตัวเองได้ ต้องพึ่งพาแพทย์แผนปัจจุบัน แต่ออกจากป่าก็มาในสภาพที่ไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีสถานะตัวตน ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิได้ ดังนั้นก็ต้องทำให้เขามีบัตรประชาชนก่อน ซึ่งทางนายอำเภอก็ให้การสนับสนุนอย่างดี ปัจจุบันสามารถออกบัตรประชนได้แล้วกว่า 400 ราย ขณะเดียวกัน สปสช.เขต 12 ก็เข้าไปทำความเข้าใจและรับทราบความต้องการเพื่อปรับระบบการบริการให้เหมาะสม เช่น เนื่องจากชาวมานิมีวิถีชีวิตเร่ร่อน การต้องไปใช้บริการกับหน่วยบริการที่ลงทะเบียนแล้วอาจไม่สะดวก จึงอยากได้สิทธิที่เวลาเจ็บป่วยไปรักษาที่ไหนก็ได้ ทางอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ก็ปลดล็อกให้ทำให้ใช้สิทธิที่ไหนก็ได้ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี สำหรับกลุ่มคนไร้สถานะ ทาง สปสช.เพิ่งเริ่มต้นในการดำเนินการ ยังไม่เกิดผลเป็นรูปธรรมชัดเจนเพราะปัญหามีความสลับซับซ้อนมาก เนื่องจาก สปสช.ไม่ใช่กลไกหลักในการออกบัตรประชาชน เป็นแค่สนับสนุนและประสานงาน โดยศูนย์ประสานงานสุขภาพประชาชนรับเรื่องร้องเรียนต่างๆซึ่งประเด็นคนไร้สถานะก็ถูกนำเข้ามาปรึกษาในกลไกนี้ด้วย
"เราก็จะมีข้อมูลบางอย่างสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้นทางให้เขาสามารถเจาะไปถึงกลุ่มเหล่านี้ได้ดีขึ้น และการพูดคุยในเวทีต่างๆก็จะมีประเด็นนี้ในการหารือเพื่อนำไปสู่การให้ความช่วยเหลือด้วย"ทพ.วิรัตน์ กล่าว
ด้าน สารี อ๋องสมหวัง ประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการสร้างหลักประกันสุขภาพของทุกภาคส่วน สปสช. ให้ความเห็นว่า การแก้ไขปัญหาคนไทยที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน เมื่อลงพื้นที่พบว่าเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ซับซ้อน ซ้ำยังเป็นกลุ่มคนจนในเมืองและยังมีขั้นตอนการตรวจดีเอ็นเอ ที่ต้องกลับไปตรวจที่ภูมิลำเนาเดิมก็ไม่ง่าย เช่น มาอยู่สงขลานานแล้ว แต่บ้านเกิดอยู่ที่หนองคาย สุโขทัย เชียงราย ญาติพี่น้องอยู่ที่นั่น เป็นต้น
"ตรงนี้ทางคณะอนุกรรมการการมีส่วนร่วมฯ ของ สปสช.ก็จะรวบรวมข้อมูล และหาแนวทางว่าคนเหล่านี้ต้องเข้าถึงบริการสุขภาพเมื่อเขาเจ็บป่วย ซึ่งก็โชคดีที่คณะอนุกรรมการฯ ได้ประธานคณะทำงานในเรื่องนี้ที่เข้มแข็งมากจากกระทรวงมหาดไทย เป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทยพร้อมคณะทำงานที่มาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อวางระบบการแก้ไขในระยะยาว ให้คนไทยตกหล่นได้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่พึงมี เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และช่วยลดความยากจนในสังคมไทย ซึ่งขณะนี้เราใช้กลไกศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนช่วยดำเนินการในด้านนี้อยู่" สารี กล่าว
- 146 views