ผู้ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จ.สงขลา คาดคนไร้บัตรประชาชนในเขตเทศบาลนครสงขลามีจำนวนนับร้อย ส่วนใหญ่ออกเรือแล้วทำบัตรหายหรือครอบครัวแตกแยกไม่มีเอกสารติดตัว ส่งผลเข้าไม่ถึงสิทธิสุขภาพ แนะระยะสั้นตั้งศูนย์ประสานงานรับเรื่องร้องเรียนคนไม่มีเลข 13 หลักเพื่อรวบรวมข้อมูลแล้วมีระบบส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
นางสมจิตร ฟุ้งทศธรรม
นางสมจิตร ฟุ้งทศธรรม ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จ.สงขลา เปิดเผยว่า จากการสำรวจตัวเลขคนไร้บัตรประชาชนในเขตพื้นที่เทศบาลนครสงขลาประมาณช่วงปลายปี 2561 ที่ผ่านมา โดยใช้เวลาสำรวจ 2 เดือน พบตัวเลขเบื้องต้น 35 ราย ส่วนใหญ่ออกไปทำงานในเรือประมงแล้วทำบัตรประชาชนหาย บ้างก็ครอบครัวแตกแยกต้องไปอาศัยอยู่กับคนอื่นแล้วไม่มีเอกสารติดตัวมาด้วย และบางกรณีพ่อแม่ก็ไม่ไปแจ้งเกิดให้ อย่างไรก็ดีคาดว่าหากมีการสำรวจอย่างเต็มรูปแบบน่าจะพบจำนวนคนไร้บัตรประชาชนมากกว่าร้อยราย ที่กล่าวเช่นนี้เพราะมักได้รับแจ้งจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จาก 55 ชุมชนในเขตเทศบาลว่ามีคนไร้บัตรตรงนั้นบ้างตรงนี้บ้าง บางคนอยู่นอกเขตเทศบาลก็มี
นางสมจิตร กล่าวต่อไปว่า กลุ่มคนไร้บัตรเหล่านี้ส่วนใหญ่มีรายได้น้อย ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ ทั้งสวัสดิการคนจน และสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล เวลาเจ็บป่วยก็ซื้อยาทานเอง ยกเว้นเจ็บป่วยหนักจริงๆ ถึงจะยอมไปหาหมอ และการที่ศูนย์ประสานงานฯได้ทำการสำรวจตัวเลขจำนวนคนไร้บัตร ทำให้คนเหล่านี้เกิดความคาดหวังสูงว่าจะได้บัตรประชาชนเสียที อย่างไรก็ดี ข้อมูลชุดนี้ได้ส่งไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ส่วนกลางเพื่อเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่ามีคนกลุ่มนี้อยู่จำนวนมากและจะได้หาทางแก้ไขในเชิงระบบ แต่ปัญหาในพื้นที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขตามความคาดหวังของชาวบ้าน จาก 35 คนที่สำรวจพบสามารถช่วยผลักดันให้ได้บัตรประชาชนเพียง 3 คน นานวันไปชาวบ้านจึงเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายหรือท้อแท้มากขึ้นเรื่อยๆ
นางสมจิตร กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้จึงอยากเสนอแนวทางการแก้ปัญหาในระยะสั้นให้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานรับเรื่องร้องเรียนคนไม่มีเลข 13 หลักหรือบัตรหายขึ้นมาก่อน แล้วให้คนที่ไม่มีบัตรประชาชนมาบันทึกข้อมูลในแบบฟอร์มรายละเอียดต่างๆ ให้มีข้อมูลเบอร์โทรศัพท์และแผนที่ที่อยู่อาศัยไว้ เพื่อแสดงเจตจำนงค์ว่าเป็นคนไทยแต่ไม่มีบัตรประชาชน ในลักษณะคล้ายๆกับการยื่นเรื่องร้องเรียนในระบบหลักประกันสุขภาพ จากนั้นมีกลไกส่งต่อให้หน่วยงานส่วนกลางที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการต่อ
"อยากให้มีการเก็บข้อมูลหลักฐานไว้ แต่ไม่ใช่เก็บไว้เฉยๆ ต้องมีกลไกหรือระบบส่งต่อให้หน่วยงานส่วนกลางมาช่วยดูให้ด้วย เหมือนระบบบัตรทองที่รับเรื่องมาแล้วส่งต่อเพื่อแก้ไข แต่ในเรื่องของการทำบัตรประชาชนเรายังไม่มีกลไกที่จะมารับส่งต่อตรงนี้" นางสมจิตร กล่าว
- 44 views