ทุกคนรู้ถึงพิษภัยของบุหรี่ว่ามีผลกระทบต่อตัวเอง คนรอบข้างและสังคม แต่คนไทยยังคงมีการสูบบุหรี่ในอัตราสูง แม้จะมีการรณรงค์มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ก็ไม่ได้ทำให้จำนวนผู้สูบบุหรี่ลดน้อยลง ยิ่งไปกว่านั้นกลับพบนักสูบหน้าใหม่มาอายุน้อยลง โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ยังคงเป็นพื้นที่ครองแชมป์อัตราการสูบบุหรี่มากสุด โดยมีนักสูบมากกว่า 1.8 ล้านคน ขณะเดียวกันยังเป็นพื้นที่ได้รับควันบุหรี่มือสองสูงสุดของประเทศเช่นเดียวกัน
วิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่แตกต่างเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มาตรการรณรณรงค์ลด ละ เลิก บุหรี่ ไม่ค่อยเป็นที่น่าพอใจสักเท่าไหร่
ดังนั้นการแก้ปัญหานี้ได้ คนทำงานจึงต้อง “เข้าถึง เข้าใจ” สร้างกลยุทธ์ใหม่ๆ ที่เหมาะสมตามบริบทของพื้นที่ และวิธีการอย่างหนึ่ง คือ กระบวนการทางสังคมและการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน
นายสุริยา ยีขุน
“ถ้าเรายังใช้เรื่องสุขภาพมาเป็นตัวนำในการจะไปบอกให้คนเลิกบุหรี่เขาไม่ค่อยเชื่อหรอก เพราะเขาสูบมานานตั้งแต่วัยหนุ่มยันแก่ ไม่คิดว่าจะเป็นอะไร” นายสุริยา ยีขุน นายกเทศมนตรีตำบลปริก อ.สะเดา จ.สงขลา ชี้ถึงสาเหตุความล้มเหลวของกลยุทธ์การรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ในแบบเดิมๆ พร้อมทั้งแนะนำว่า ถ้ามีการใช้หลักความเชื่อทางศาสนาหรือผลกระทบที่จะเกิดกับคนใกล้ตัวหรือคนในครอบครัว ผู้สูบบุหรี่จะเชื่อและโน้มน้าวใจคนที่สูบบุหรี่ให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลด ละ เลิก ได้มากกว่า ซึ่งในพื้นที่ ทต.ปริก มีจำนวนผู้สูบบุหรี่มากเกือบ 1,500 คน
นายสมยศ ฤทธิ์ธรรมนาถ
เช่นเดียวกับ นายสมยศ ฤทธิ์ธรรมนาถ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาทอน อ.ทุ้งหว้า จ.สตูล ที่ยืนยันเช่นเดียวกันว่า นักสูบส่วนใหญ่ไม่ตระหนักถึงสุขภาพตัวเอง แต่ถ้าเป็นคนรอบข้างที่ได้รับผลกระทบจากบุหรี่มือสอง เขาจะเริ่มคิดและเป็นห่วง ดังนั้นทางท้องถิ่นจึงมีวิธี คือ แม้จะไม่รักตัวเองก็ให้คิดถึงคนที่รัก ทำเพื่อคนที่รัก
“ค่อยๆ ไปพูดไปบอก ย้ำทุกวันๆ เดี๋ยวเขาก็คล้อยตาม” นายก อบต.นาทอน ย้ำวิธีการที่ต้องละมุนละม่อม
ตามหลักทางศาสนาอิสลามระบุว่า “หากเสพสิ่งใดๆ แล้วเป็นโทษต่อสุขภาพร่างกาย ถือว่า เป็นสิ่งไม่ดี หรือต้องห้าม” ดังนั้น “บุหรี่” จึงเป็นสิ่งต้องห้าม แต่ก็ยังมีข้อถกเกียงว่า “บุหรี่” เป็นสิ่งไม่ดีหรือไม่ แต่สำหรับชาวมุสลิมที่เคร่งครัดแล้วมันคือสิ่งต้องห้าม
ดังนั้นหลักทางศาสนาอิสลามในเรื่องนี้ จึงเป็นกลยุทธิ์เด็ดที่ทั้งสองพื้นที่นำมาใช้
โต๊ะอิหม่านมิตรชา โต๊ลาตี ประจำมัสยิดส่งเสริมสุขภาพบ้านบารายี อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล เปิดเผยว่า บุหรี่เป็นปัญหาหลักในลำดับต้นของการเจ็บป่วยในผู้ชายมุสลิม เพราะส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อว่าเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะเคยสูบกันมาจากรุ่นสู่รุ่น และไม่เห็นผลกระทบทันทีทันใด ดังนั้นจึงต้องสร้างความรู้ความเข้าใจ นุ่มนวล ใช้กระบวนการพูดคุยตลอดเวลา และจะต้องไม่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ไม่เช่นนั้นจะเป็นทุกข์ทันที เอาคนที่เต็มใจก่อนพร้อมจะรับเรื่อง เปลี่ยนตัวเองได้มากที่สุด โต๊ะอิหม่ามก็ต้องเป็นตัวอย่าง ชาวบ้านก็จะได้เคารพนับถือ โอกาสในการแก้ปัญหาก็จะประสบผลสำเร็จ
นายก อบต.นาทอน กล่าวว่า ทางอบต.ได้เชิญผู้นำทางศาสนามาร่วมพูดคุยเพื่อให้มีการใช้หลักคำสอนของศาสนามาเป็นช่วยในการรณรงค์ อย่างเช่น การคุตบะห์หรือการพูดคุยในเรื่องพิษภัยของบุหรี่ก่อนการทำพิธีละหมาด และในช่วงรอมฎอนซึ่งพี่น้องมุสลิมจะต้องถือศีลอดคือต้องอดอาหารรวมถึงบุหรี่ด้วย ตั้งแต่เวลาพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงเวลาพระอาทิตย์ตกเป็นระยะเวลา 1 เดือน
ดังนั้นรอมฎอนจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเลิกบุหรี่ ไม่ใช่ว่าพอละศีลอด ตกค่ำมาอัดบุหรี่หนักๆ แบบนี้ถือว่าการถือศีลอดที่ผ่านมาทั้งวันนั้นไม่ได้อะไรเลย
นอกจากนี้แล้วยังได้ขอความร่วมมือและประกาศให้มัสยิดเป็นศาสนสถานปลอดบุหรี่อย่างเด็ดขาดทั้งภายในอาคารและบริเวณรอบมัสยิด ผู้มาร่วมพิธีทางศาสนาหรือมาใช้สถานที่จะต้องห้ามสูบบุหรี่
เช่นเดียวกับที่ ทต.ปริก สร้างกลไกในชุมชนด้วยการให้มัสยิดเป็นพี่เลี้ยงในชุมชน ซึ่งนายกเทศมนตรีตำบลปริก อธิบายให้เข้าใจว่า ชาวมุสลิมเคร่งครัดในหลักธรรมคำสอน เราจึงให้มัสยิดเป็นสถานที่ให้ความรู้และรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งทั้งโต๊ะอิหม่ามจะต้องไปทำความเข้าใจกับชาวชุมชน และคนที่มามัสยิดต้องไม่สูบบุหรี่
การสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและภาคีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนของทั้งสองพื้นที่ ซึ่งทำมาอย่างต่อเนื่อง เป็นกลไกสำคัญส่งผลให้การรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ประสบผลสำเร็จ เช่น การปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการไม่สูบบุหรี่ การส่งเสริมครัวเรือนปลอดควันบุหรี่ หรือบุคคลต้นแบบ การขอความร่วมมือร้านค้า การติดป้ายประกาศห้ามสูบบุหรี่ในตามสถานที่สำคัญและพื้นที่สาธารณะ จัดกิจกรรมภายในโรงเรียนเพื่อหยุดยั้งนักสูบหน้าใหม่
ทั้งเทศบาลตำบลปริกและ อบต.นาทอน เป็นสองพื้นที่ตัวอย่างของความสำเร็จการรณรงค์การควบคุมยาสูบของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน ภายใต้การขับเคลื่อนประเด็น “ลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ เพิ่มปัจจัยเสริมสุขภาวะ” ผ่าน 5 ปฏิบัติการสำคัญ คือ 1. สร้างบุคคลต้นแบบ 2.เพิ่มพื้นที่ปลอดบุหรี่ 3.สร้างคลินิกเลิกบุหรี่ 4.เพิ่มกติกาทางสังคม 5.บังคับใช้กฎหมาย ผ่าน “3 กลยุทธ์” ประกอบด้วย สร้าง เสริม และส่วนร่วม
เป็น 2 พื้นที่ที่น่าศึกษาและสามารถเป็นต้นแบบในการจัดการบุหรี่ได้เป็นอย่างดี
- 411 views