“อนุทิน” นำทีมไทยแลนด์แถลงคืบหน้าพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ด้านสถาบันวัคซีนเผยงบฯ 3,000 ล้านบาทใช้หนุนวิจัยพัฒนาหลายภาคส่วน
เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 63 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการรับฟังความก้าวหน้าเกี่ยวกับการวิจัยวัคซีนป้องกันโควิด-19ในประเทศไทยว่า งบประมาณที่กระทรวงสาธารณสุขได้รับการจัดสรรจากพ.ร.บ.เงินกู้ 4.5 หมื่นล้านบาท ได้มีการใช้สนับสนุนการวิจัยและจัดหาวัคซีน 3,000 ล้านบาท ซึ่งจากการรับฟังความคืบหน้าการวิจัยวัคซีนชนิด mRNA ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ผลลัพธ์ค่อนข้างบวกเพิ่มภูมิคุ้มกันในหนูทดลองและลิงทดลองเป็นอย่างมาก หากผลการฉีดวัคซีนในลิงเข็มที่ 2 ได้ผลลัพธ์ที่ดี ก็จะเข้าสู่การทดลองในมนุษย์ แต่จะต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ก่อน ซึ่งสธ.ให้การยืนยันว่า ไม่ต้องกังวลในกระบวนการขั้นตอนทางกฎหมายอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ โดยยึดความปลอดภัยของประชาชนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เบื้องต้นการทดลองวัคซีนชนิดmRNAผ่านด่านทดลองในหนู 2 เข็ม ซึ่งทุกตัวหลังได้เข็ม 2 มีภูมิคุ้มกันขึ้นมาก แม้จะทำให้เจือจางถึง 20,000 เท่า แล้วก็ยังสามารถยับยั้งเชื้อในหลอดทดลองได้ และขณะนี้อยู่ระหว่างการรอผลการฉีดในลิงเข็มที่ 2 ในอีก 2 สัปดาห์ หากผลพบว่าภูมิคุ้มกันขึ้นสูงเป็นที่น่าพอใจ ก็จะประสานไปยังโรงงานที่จองไว้เริ่มผลิต 10,000 โดสเพื่อใช้ทดลองในอาสาสมัคร คาดว่าจะเริ่มทดลองในคนระยะที่ 1 ได้ในราวเดือนตุลาคม 2563 ซึ่งขณะนี้คนไทย เริ่มทยอยแสดงความจำนงเข้ามาจำนวนมากแต่ยังรับไม่ได้สักคน เพราะต้องรอผ่านการอนุญาตจากคณะกรรมการวิจัยในมนุษย์ก่อน
ผู้สื่อข่าวถามถึงการเตรียมการทดลองในคนระยะที่ 3 ซึ่งต้องทำในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคแต่สถานการณ์ในประเทศไทยขณะนี้มีผู้ติดเชื้อน้อย ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า สธ.และสถาบันวัคซีนแห่งชาติได้หารือกับประเทศเพื่อนบ้านบางส่วน และแหล่งทุนขนาดใหญ่ของต่างประเทศ ซึ่งอาจจะต้องทำการทดลองข้ามประเทศ โดยขณะนี้ประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียเริ่มมีการติดต่อหารือในการเข้ามามีส่วนร่วมการทดลองในคนด้วย รวมถึง เมียนมาร์ ลาว กัมพูชาและปากีสถาน เพราะหวังว่าประเทศไทยไม่มีการระบาดรอบ 2 แต่หากมีก็จะดำเนินการทดลองในคนภายในประเทศด้วย
การวิจัยวัคซีนของประเทศไทยตามหลังต่างประเทศประมาณ 6 เดือน เนื่องจากวัคซีนตัวแรกของต่างประเทศจะเข้าการทดลองในคนระยะที่ 3 ประมาณเดือน ก.ค.2563 ดังนั้นหากพบโรคระบาดจำนวนมากในสหรัฐอเมริกา หรือ บราซิล หากไปทำวิจัยและภายในสิ้นปี 2563 ได้ผลว่าวัคซีนดีมาก วัคซีนตัวแรกที่จะเข้าวินและเป็นการใช้เทคโนโลยีเดียวกับไทยนั้น ก็จะเป็นข้อดีทำให้ประเทศไทยรู้ว่าวัคซีนชนิดเดียวกับของไทย ต้องภูมิคุ้มกันขึ้นขนาดไหนถึงจะป้องกันได้ ซึ่งก็จะสามารถหารือกับอย.ของไทยได้เลยว่า หากเป็นในลักษณะนี้หลังไทยทดลองในคนระยะที่ 2 ที่ฉีดในอาสาสมัครประมาณ 1,000 ขึ้นไปแล้ว พบว่าภูมิคุ้มกันสูงเท่าของต่างประเทศที่ทำสำเร็จแล้ว วัคซีนของไทยจะสามารถผ่านด่านนี้ไปได้หรือไม่ ซึ่งสามารถทำได้แบบมีเงื่อนไข คือเป็นการอนุมัติให้ใช้อย่างมีเงื่อนไขในภาวะฉุกเฉิน
ศ.นพ.เกียรติ กล่าวอีกว่า ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนด้วยดีทั้งหมดและเริ่มการทดลองในคนระยะแรกเข็มที่ 1 ได้ในเดือนต.ค.2563 เพื่อดูความปลอดภัยระยะสั้น 3 เดือน ภายในสิ้นปี 2563ก็จะทราบผล จากนั้นต้นปี 2564 จะเริ่มการทดลองในคนระยะที่ 2 ใช้เวลาอีก 1-2 เดือน รวมเป็นราว 4 เดือน หากไม่ทำการทดลองในคนระยะที่ 3 จากการที่ต่างประเทศผลิตวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีเดียวกับของไทยได้สำเร็จก่อน คาดว่าเร็วที่สุดภายในกลางปี 2564 ประเทศไทยจะสามารถผลิตวัคซีนชนิดmRNAออกใช้ป้องกันโรคโควิด-19สำหรับคนไทยได้ เนื่องจากทันทีที่มีการทดลองในคนเข็มแรก โรงงานผลิตของวัคซีนของบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด จะเริ่มเตรียมโรงงาน คน และถ่ายทอดเทคโนโลยีทันทีเช่นเดียวกันเพื่อเตรียมความพร้อม
นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า งบประมาณ 3,000 ล้านบาทนั้นจะนำมาใช้ในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนในประเทศที่ดำเนินการอยู่ในหลายสถาบันที่เป็นทีมไทยแลนด์ทั้งมหาวิทยาลัยมหิดล ไบโอเทค บริษัทไบโอเนท-เอเชีย จำกัด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และองค์การเภสัชกรรม(อภ.) ส่วนการเจรจาเพื่อทำบันทึกข้อตกลงของร่วมในการวิจัยวัคซีนกับต่างประเทศนั้น ขณะนี้มีการลงนามแล้ว 2 ประเทศ คือ จีนและเกาหลีใต้ และอยู่ระหว่างการติดต่อประสานงานหารืออีกหลายประเทศ เช่น อเมริกา ญี่ปุ่น เป็นต้น
- 9 views