"อนุทิน ชาญวีรกูล" ดูงานรง.ผลิตวัคซีนบ.ไบโอเนท-เอเชีย อยุธยา หลังร่วมลงนามกับ สธ.-หน่วยงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเดินพัฒนาวัคซีน ด้านรมว.สธ.ยังไม่ตัดสินใจโรงงานแห่งใดผลิตวัคซีนโควิด19 ขอให้พัฒนาสำเร็จก่อน
ตามที่เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการเดินหน้าวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยล่าสุดได้ทดลองในหนู และในลิง หากผลดีพร้อมผลิตวัคซีนในมนุษย์ ซึ่งล่าสุดองค์การเภสัชกรรม(อภ.) เผยมีโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่จ.สระบุรี ซึ่งมีความพร้อมสามารถร่วมผลิตวัคซีนโควิด ขณะที่ภาคเอกชนของไทยก็มีความพร้อมเช่นกัน
ความคืบหน้าเรื่องนี้ เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 1 มิ.ย. ที่บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ให้สัมภาษณ์ภายหลังการติดตามความก้าวหน้าวิจัยวัคซีนโควิด-19 ชนิดดีเอ็นเอและตรวจเยี่ยมโรงงานผลิตวัคซีนของบริษัทไบโอเนทฯว่า ประเทศไทยมีความหวัง เนื่องจากบริษัทไบโอเนทฯที่เป็นผู้ผลิตวัคซีนชั้นนำของประเทศไทย ได้มีการลงนามข้อตกลงกับกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และหน่วยงานรัฐอื่นๆ ในการศึกษาวิจัยวัคซีนโควิด-19 ชนิดดีเอ็นเอ โดยบริษัทได้วิจัยและพัฒนาขึ้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนทดลองฉีดในหนู คาดว่าสัปดาห์หน้าจะทราบผลการทดลองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่าผลยืนยันเป็นอย่างไร หากผลเป็นไปในทางบวกได้ผลดี ก็จะเดินหน้าทดลองในลิงต่อไป ก่อนวิจัยในคน
“หวังว่านักวิทยาศาสตร์ไทยและโรงงานผลิตวัคซีนของประเทศไทยจะฟันฝ่าทุกอย่างได้สำเร็จ ทำให้ความฝันเป็นจริงในการค้นพบวัคซีนป้องกันโควิด-19 และอยากเห็นประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ค้นพบวัคซีนนี้ ซึ่งจะทำให้ระบบสาธารณสุขไทยมีความครอบคลุมรอบด้าน ทั้งการส่งเสริมป้องกันโรค การรักษา ความพร้อมยา เวชภัณฑ์ และการผลิตวัคซีน และสธ.พร้อมที่จะสนับสนุนเต็มที่ให้ทุกอย่างสำเร็จ” นายอนุทิน กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าวิจัยวัคซีนสำเร็จ รัฐมีการเตรียมความพร้อมโรงงานที่จะใช้ในการผลิตอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า ขอให้ผลการศึกษาวิจัยทุกอย่างออกมาดี เมื่อมีดีเชื่อว่าจะมีคนวิ่งเข้ามาหาต้องรับแขกแบบหัวกะไดไม่แห้ง ซึ่งหากวิจัยสำเร็จจะต้องดูแลคนไทยเต็มที่ก่อน
ต่อข้อถามมีการจัดสรรงบประมาณในส่วนของการศึกษาวิจัยวัคซีน 5,000 ล้านบาทอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า สธ.อยู่ระหว่างการประชุมหารือในการจัดสรรงบประมาณในส่วนของสธ.ที่ได้รับจัดสรรเพิ่มเติมเพื่อนำมาต่อสู่กับโรคโควิด ซึ่งไม่ต้องห่วงการใช้เงินในระบบสาธารณสุข เพราะตนเป็นคนขี้เหนียว ไม่ให้มีการนำเงินไปใช้สุรุ่ยสุร่าย แบบไม่ได้ประโยชน์ที่ชัดเจนอย่างแน่นอน และมีส่วนงบประมาณที่จัดสรรสำหรับการวิจัยวัคซีนแน่นอน รวมถึง การตอบแทนบุคลากรและอสม. จะเป็นการใช้งบประมาณคุ้มค่าประโยชน์ถึงประชาชน และผู้ต่อสู้กับโควิดให้มากที่สุด
"ถ้าผลวิเคราะห์วัคซีนชนิดดีเอ็นเอที่ทดลองในหนู กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์บอกว่าผลวัคซีนใช้ได้ดี ไม่ต้องห่วงรัฐจะมีการทุ่มงบประมาณเต็มที่ อย่าว่าแต่5,000 ล้านบาท หากเป็นหมื่นล้านก็สนับสนุน หากทำให้คนไทยปลอดภัยก็ต้องทำ"นายอนุทินกล่าว
นายอนุทิน กล่าวอีกว่า หากประเทศไทยประสบความสำเร็จในการวิจัยวัคซีนโควิด-19 จะทำให้เป็นผู้นำระบบสาธารณสุข นำมาสู่การเป็นประเทศปลอดภัย ระบบสาธารณสุขดี นักท่องเที่ยว นักลงทุน ก็จะเชื่อมั่นทั้งในส่วนของการขับเคลื่อนเมดิคัลฮับหรือการดูแลสุขภาพส่วนบุคคล ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมาหลายเดือนในช่วงที่โรคระบาดทประเทศไทยสูญเสียต้นทุน ประชาชนตกระกำลำบาก หากมีช่องทางที่จะตีกลับได้ก็ต้องนำกำไรกลับมาให้ได้
นายวิฑูรย์ วงศ์หาญกุล ประธานกรรมการบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้ผลิตวัคซีนตัวเลือกที่เป็นวัคซีนโควิด-19 ชนิดดีเอ็นเอ และฉีดทดลองในหนูแล้ว หากผลวิเคราะห์ในหนูพบว่าสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีมาก ก็จะมีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ว่าจะสามารถทดลองในคนในระยะที่1ได้เลยหรือไม่ และหากได้เริ่มวิจัยระยะที่1แล้ว คาดว่าจะวิจัยในคนระยะที่2และ3ในต้นปี 2564 หาดผลการวิจัยเป็นไปตามเป้าที่วางไว้ทุกขั้นตอน แต่หากผลทดลองไม่ดี ก็จะต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯมีความพร้อมในการผลิตวัคซีนโควิด-19ทั้งชนิดดีเอ็นเอและเอ็มอาร์เอ็นเอ โดยหากเป็นชนิดดีเอ็นเอที่บริษัทศึกษาวิจัยเองนั้น หากผลวิจัยสำเร็จก็จะสามารถเดินหน้าผลิตวัคซีนที่โรงงานแห่งนี้ได้เลย ส่วนหากเป็นชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ หากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยวิจัยได้สำเร็จก็จะต้องมาใช้โรงงานนี้ในการผลิตชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ ซึ่งบริษัทมีความรู้ในเทคโนโลยีการผลิตชนิดนี้ สามารถผลิตได้เช่นกัน แต่ในการซับซ้อนเรื่องตัวเชื้อการผลิตชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอนั้น จะต้องขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้วิจัยที่ทำชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอได้สำเร็จ
- 335 views