ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ อธิบายรูปแบบการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วโลกและประเทศไทย ความก้าวหน้าการใช้วัคซีนแบบตัดต่อสารพันธุกรรม

หลังจากนักวิจัยไทยเดินหน้าพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ด้วยเทคโนโลยีทั้งดีเอ็นเอวัคซีน และเอ็มอาร์เอ็นเอวัคซีน ล่าสุดได้ทดลองวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอเอ็นวัคซีน (mRNA)ในลิง นั้น อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจมีคำถามว่า วัคซีนป้องกันโควิดมีกี่ชนิด และประเทศไทยเหมาะสมกับการพัฒนาวัคซีนชนิดไหน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ อธิบายว่า การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ปัจจุบันมีการพัฒนาหลายรูปแบบ หลายทางเลือก เพื่อให้มีโอกาสได้วัคซีนที่ใช้ได้จริง ณ เวลานี้ยังไม่มีใครทราบว่า วัคซีนรูปแบบไหนได้ผลในการป้องกัน แต่นักวิทยาศาสตร์ก็พยายามวิจัยพัฒนา

นพ.นคร กล่าวว่า สำหรับรูปแบบการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทุกวันนี้ มีทั้ง ดีเอ็นเอวัคซีน (DNA) เอ็มอาร์เอ็นเอวัคซีน(mRNA) ซึ่งเป็นการตัดต่อสารพันธุกรรม นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาวัคซีนรูปแบบอื่นๆ ที่เรียกว่า Subunit vaccine คือ การใช้โปรตีนบางส่วนของเชื้อ รวมทั้งการนำโครงสร้างมาทำเป็นเปลือกของไวรัส ที่เรียกว่า วีแอลพี (VLP) หรือใช้ไวรัสตัวอื่นมาเป็นพาหะในการนำสารพันธุกรรมของโควิด-19 ไปเป็นวัคซีนก็มี ซึ่งมีหลายรูปแบบ

“สำหรับประเทศไทยทำทุกรูปแบบเช่นกัน โดยที่ก้าวหน้าก็คือ ในส่วนของการใช้วัคซีน 2 ชนิด คือ DNA วัคซีน และ mRNA วัคซีน โดยเริ่มทำการทดสอบในสัตว์ทดลอง ซึ่งวัคซีน DNA โดยบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด และไบโอเทค เริ่มทดสอบในหนูทดลอง ส่วนวัคซีน mRNA โดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านการทดสอบในหนู และเริ่มทดสอบในลิงเมื่อวันที่ 23 พ.ค. ที่ผ่านมา” นพ.นคร กล่าว

ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนฯ กล่าวอีกว่า เบื้องต้นไทยมีโรงงานที่สามารถผลิตวัคซีนที่ใช้การตัดต่อสารพันธุ์กรรม ทั้ง DNA และ mRNA เราสามารถผลิตได้ ที่บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย มีความพร้อมเรื่องนี้ แต่ก็ต้องได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตบางส่วน โดยเฉพาะเทคโนโลยี mRNA ถือเป็นเทคโนโลยีใหม่มากๆ ความร่วมมือที่มี คือ กับทางมหาวิทยาลัยเพนซิลเวอเนีย สหรัฐ และยังมีความร่วมมือรูปแบบอื่น เช่น การนำวัคซีนที่พัฒนาในประเทศต่างๆ มาทดสอบในประเทศไทย โดยเราก็ติดต่อกับพันธมิตรที่เราติดต่อได้ อย่าง จีนมีข้อตกลงร่วมกันแล้ว โดยจะเป็นพื้นฐานร่วมการทำวิจัยและรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อผลิตวัคซีน โดยการผลิตวัคซีนร่วมกับนานาชาติ ก็จะต้องใช้เวลา และต้องมีข้อตกลงในการซื้อวัคซีนจากประเทศต้นทาง และรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อนำมาผลิตเอง เพราะไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่งผลิตวัคซีนโควิดได้เพียงประเทศเดียว จึงต้องร่วมมือกันทั้งหมด ใครทำสำเร็จก็ต้องสร้างความร่วมมือต่อกัน

คุณวิฑูรย์ วงศ์หาญกุล ประธานกรรมการบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด กล่าวว่า ไบโอเนท-เอเชีย มีเครือข่ายหลายประเทศ โดยเรามีเทคโนโลยีของ DNA ซึ่งสามารถใช้ถังหมักในการผลิตได้ แต่หากเป็น mRNA ตัวเครื่องผลิตไม่ได้ใหญ่โต แต่ตัวไหนที่ดีที่สุดที่ใช้ในประเทศของเรา จึงค่อยมาพิจารณาสเกลการผลิต ดังนั้น หากผลการทดลองในสัตว์ทดลองผ่านพ้นไปได้ และทำให้เชื้อไวรัสตายได้ เราก็จะมาคิดว่าต้องสเกลขนาดไหน อย่างไรก็ตาม ภาครัฐมีโรงงานที่เป็นไพล็อตแพลนหลายแห่ง หากทางของไบโอเนท-เอเชีย ไม่เพียงพอ ก็ยังสามารถใช้ในส่วนของภาครัฐที่มีอยู่ได้ จุดนี้จึงไม่ห่วงในเรื่องการผลิต แต่ห่วงว่าจะใช้วัคซีนตัวไหนที่ดีที่สุดมาใช้กับประชาชนเรา

นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ส่วนเรื่องการสร้างความปลอดภัยทางชีวภาพระดับที่ 3 (Biosafety-Level 3 : BSL3) ที่ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการพัฒนาวัคซีนสำหรับป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ นั้น เนื่องจาก ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ไปตรวจเยี่ยมการทดลองฉีดวัคซีนในลิงนั้น พบว่าสิ่งที่ขาด คือ ห้องที่มีความปลอดภัยทางชีวภาพระดับสูง ซึ่งรัฐบาลก็ได้ตั้งงบสำหรับตั้ง BSL3 เป็นยูนิตฉุกเฉินก่อนในระยะ 3 เดือนนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวัคซีนตัวอื่นอีกด้วย

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง:

ก.อุดมศึกษาฯ ทดสอบวัคซีนโควิด-19 ในลิง ก่อนทดสอบในคน ส.ค.นี้

ลุ้นผล "วัคซีนโควิดในลิง" มิ.ย. นี้ ก่อนผลิต 1 หมื่นโดส ทดลองอาสาสมัคร 5,000 คน

ขอบคุณภาพจากกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และกระทรวงสาธารณสุข