อนุทิน ชาญวีรกูล เสวนาส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม “ไทยรู้ สู้วิกฤติ” เผยความสำเร็จ มอ. ใช้พลาสมาผู้ที่หายป่วยโควิดมารักษาคนไข้ใหม่ เป็นเรื่องดี

เมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่กรมอนามัย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 13 พ.ศ.2563 “ไทยรู้ สู้วิกฤติ” เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งในและต่างประเทศในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พร้อมปาฐกถาพิเศษและเสวนาทางไกล “PP&P โอกาสในวิกฤติ” กับ ดร.อู่ จิ้ง กรรมาธิการสาธารณสุข มณฑลซานซี (Dr.Wi Jin ) Director -general Shanxi Provincial Health Commission สาธารณรัฐประชาชนจีน และ ดร.ฌอน วาซู ผอ.ศูนย์คลินิกโรคติดต่อแห่งชาติ สิงคโปร์ (Dr.Shawn Vasoo) Clinical Director National Center for Infectious Disease

นายอนุทิน กล่าวว่า ประสบการณ์ของจีน ก็มีมาตรการควบคุมป้องกันโควิด-19 ที่คล้ายกับประเทศไทย ทั้งนี้ ต้องขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์และคนไทยที่ร่วมมือกันควบคุมป้องกันโรคจนทำให้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ลดลง และมาอยู่อันดับ 70 ของโลก ด้วยความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุข ความสามารถในการตรวจแล็ปวันนี้ทำได้มากถึงวันละ 1 หมื่นตัวอย่าง มีอสม.ที่ช่วยคัดกรองทั่วประเทศ มีการรักษาฟรี มีระบบการคัดแยกผู้ป่วย ผู้สัมผัสออกมาดูแลอย่างดีโดยไม่ต้องมีการสร้างรพ.สนามแห่งใหม่ โดยใช้ความร่วมมือกันระหว่างโรงพยาบาล สถานศึกษา และโรงแรม มีการรักษาที่ดี วันนี้เราไม่ต้องมาชี้ให้ใครเป็น ชี้ให้ใครตาย

อย่างไรก็ตาม นับจากนี้จะต้องมีการปรับตัวสู่วิถีชีวิตใหม่ด้วยความอดทน โดยมอบให้กรมนามัย และกรมสุขภาพจิตรับไม้ต่อจากกรมควบคุมโรค และกรมการแพทย์ วันนี้เราจะมัวแต่ควบคุม รักษา คัดกรองโดยใช้มาตรการอย่างเข้มข้นตลอดไม่ได้ ต้องมีการผ่อนปรนให้ประชาชนใช้ชีวิตและประกอบสัมมาอาชีพ วันนี้เมื่อเราควบคุมโรคนิ่งมาได้ระยะหนึ่งเพราะความร่วมมือจากประชาชน และทุกฝ่าย ก็อยากขอความร่วมมือจากประชาชนต่อไปในการผ่อนปรนในระยะที่ 2 นี้ ทั้งการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล สังคม การสวมหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้าทุกครั้งที่ออกจากบ้าน ใช้ช้อนกลางส่วนตัว และหมั่นล้างมือ ซึ่งยังต้องดูไปอีก 2 สัปดาห์ ตามระยะฟักตัวของโรค ตอนนี้ตนก็จุดธูปทุกวันถ้าสถานการณ์ยังนิ่ง ก็พอจะพูดได้ว่าประเทศไทยมีความปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของระบบสุขภาพก็เตรียมความพร้อมในการรับมือกับการระบาดเอาไว้อย่างเข้มข้น ยา เวชภัณฑ์ที่เคยขาดวันนี้ก็มีความพร้อมมาก รวมถึงนพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดสรรงบประมาณที่ค่อนข้างมากที่เดียวสำหรับการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคนี้ ทั้งความร่วมมือกับนักวิจัยทั้งในและต่างประเทศ วันนี้เราเดินไปด้วยความพร้อม และมีความหวังว่าประเทศไทยจะมีวัคซีนใช้

ส่วนความสำเร็จของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ประสบความสำเร็จในการใช้พลาสมาของผู้ที่หายป่วยโควิด มารักษาผู้ป่วยรายใหม่สำเร็จ นั้นก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี ซึ่งเรื่องนี้ไม่ต้องรายงานมาที่กระทรวงสาธารณสุข แต่ทราบว่าผลการรักษาช่วยให้คนไข้ที่อาการหนักมีอาการดีขึ้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ที่สถาบันบำราศนราดูร ก็เคยนำพลาสมาจากผู้ป่วยคนไทยรายแรกซึ่งเป็นคนขับแท็กซี่ที่รักษาหายมาใช้รักษาผู้ป่วยอาการหนัก 2 ราย แต่ไม่สำเร็จ อาจจะเพราะตอนนี้คนขับแท็กซี่เพิ่งหายป่วยและอยู่ในอาการกระปรกกระเปลี้ย อีกทั้งผู้ป่วยที่รับพลาสมายังเป็นผู้ป่วยอาการหนัก 1 รายอายุมาก และเป็นวัณโรคร่วมด้วย ส่วนอีกรายก็อาการหนัก และป่วยไข้เลือดออกร่วมด้วย แต่วันนี้เมื่อข้อมูลทางวิชาการมีมาก การแพทย์ไปได้ไกลก็ทำให้มอ.นำพลาสมามารักษาผู้ป่วยสำเร็จ แต่ทั้งนี้ก็ยังเป็นกรณีศึกษาอยู่

ด้าน นพ.สุขุม กล่าวว่า ประเทศมีการสำรองยาทุกชนิดที่มีการใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 และปรับแนวทางการรักษามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะยาตัวสำคัญอย่างฟาวิพิราเวียร์ ก็ปรับให้ผู้ป่วยเร็วขึ้น จากเดิมที่อาการหนักแล้วค่อยให้ยานี้ แต่ปัจจุบันให้ทันทีโดยไม่รอให้อาการรุนแรง ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเหลืออยู่ในรพ. และช่วยลดเวลาในการนอนรพ.จากเดิมต้องนอนรพ. 2-3 เดือน ก็เหลือเฉลี่ย 14 วัน