วิกฤติ Covid-19 ทำให้รัฐบาลตัดสินใจใช้มาตรการล็อคดาวน์และเคอร์ฟิวในทุกจังหวัดทั่วประเทศตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ช่วงเวลาดังกล่าวครอบคลุมช่วงเทศกาลสงกรานต์ด้วย และตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2563 เป็นต้นมา ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศพร้อมใจกันออกประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อลดการตั้งวงดื่มเหล้าโดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ Covid-19 ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

ในช่วง 7 วันอันตรายเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ (10-16 เมษายน) จึงถือได้ว่าเป็นปีที่มีการเคลื่อนย้ายของประชากร และกิจกรรมเฉลิมฉลองน้อยที่สุดปีหนึ่งจากทั้งความกลัวการติดเชื้อของประชาชนและมาตรการของรัฐบาล ตัวเลขจากข้อมูลการเฝ้าระวังช่วงเทศกาลพบว่าจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์ปีนี้ลดลงเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ จากข้อมูลจากระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ กระทรวงสาธารณสุข จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในช่วง 7 วันอันตรายปีนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 10,259 คน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของปี 2560-2562 อยู่ที่ 30,178 คน จำนวนผู้ได้รับผลกระทบจึงลดลงไปเกือบ 70% ในขณะเดียวกันสัดส่วนของอุบัติเหตุที่มีสุรามาเกี่ยวข้องอยู่ที่ 12.4% ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของปี 2560-2562 อยู่ที่ 27.5% ซึ่งเป็นผลจากมาตรการห้ามจำหน่ายสุราทั่วประเทศ

เมื่อทำการเปรียบเทียบจำนวนผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตที่มีอาการมึนเมาในช่วงสงกรานต์ปี 2563 เทียบกับ 3 ปีก่อนหน้า คือ 2560-2562 (ภาพที่ 1) พบว่า ปี 2560-2562 มีรูปแบบของกราฟ คือ จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นจากวันที่ 1 ของช่วง 7 วันอันตรายไปอยู่ที่จุดสูงสุดในวันที่ 3 และลดลงมาเรื่อยๆ จนถึงจุดต่ำสุดในวันที่ 7 จำนวนได้รับผลกระทบเฉลี่ยรายวันอยู่ที่ 1,131-1,221 รายต่อวัน ในขณะที่สงกรานต์ปี 2563 ที่ผ่านมามีรูปแบบของกราฟจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตแตกต่างไปอย่างชัดเจน คือ จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่มีอาการมึนเมามีจำนวนใกล้เคียงกันทุกวัน ไม่มีจุดสูงสุดที่ชัดเจน เฉลี่ยรายวันอยู่ที่ 182 รายต่อวัน ในภาพรวม จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากแอลกอฮอล์ในช่วง 7 วันอันตรายสงกรานต์ปี 2560-2562 อยู่ที่เฉลี่ย 8,288.7 ราย ในขณะที่ปี 2563 อยู่ที่ 1,276 ราย การห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปี 2563 จึงช่วยลดจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากแอลกอฮอล์ในช่วง 7 วันอันตรายลงถึง 5.5 เท่า !!!

ภาพที่ 1 จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตช่วง 7 วันอันตราย สงกรานต์ 2560-2563

ที่มา: ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ กองสาธารณสุขฉุกเฉิน

ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) ยังได้ทำการประมาณการมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจซึ่งประเมินจากความสูญเสียทางสุขภาพจากผู้ประสบอุบัติเหตุและเสียชีวิต (ไม่รวมค่าใช้จ่ายจากการดื่มสุรา) ในช่วงสงกรานต์ 2563 เทียบกับสงกรานต์ 2560 (ตาราง 1) ซึ่งทาง ศวส. ได้ทำการประมาณการความสูญเสียไว้ล่าสุด พบว่า

- มูลค่าความสูญเสียจากอุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์ 2563 อยู่ที่ 707.0 ถึง 953.9 ล้านบาท ลดลง 63% จากปี 2560 ที่มีมูลค่าความสูญเสีย 1,918.8–2,567.5 ล้านบาท

- ข้อมูลจากทั้งปี 2560 และ 2563 พบว่า มูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่มาจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในปี 2563 มูลค่าความสูญเสียส่วนนี้มีสัดส่วน 83.2–86.4% ในปี 2560 คิดเป็นสัดส่วน 84.2–88.2%

- สัดส่วนผู้ประสบเหตุที่มีประวัติการดื่มสุราในปี 2563 มีจำนวน 1,276 คน คิดเป็น 12.4% ของผู้ประสบเหตุทั้งหมด ในขณะที่ปี 2560 มีจำนวน 8,549 คน คิดเป็น 29.3% จำนวนผู้ประสบเหตุที่มีสุรามาเกี่ยวข้องจึงลดลงถึง 7,273 คน คิดเป็น 85.1%

- มูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับสุราในปี 2563 คิดเป็น 87.9–118.6 ล้านบาท ลดลงถึง 84.3% จากปี 2560 ที่มีมูลค่าความสูญเสียอยู่ที่ 562.7–752.9 ล้านบาท

จากข้อมูลข้างต้น การห้ามขายเหล้าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2563 นี้ เป็นอีก 1 บทพิสูจน์ว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในช่วงเทศกาล การลดลงของทั้งจำนวนและสัดส่วนของผู้ได้รับผลกระทบที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสุรา แสดงให้เห็นว่าความสูญเสียที่ลดลงเป็นทั้งผลจากมาตรการเคอร์ฟิว จำกัดการเดินทาง และการห้ามขายสุรา มาตรการห้ามขายสุราหรือจำกัดการขายสุราในช่วงเทศกาลจึงเป็นอีก 1 ทางเลือกของมาตรการในการป้องกันและลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาล ในปีถัดๆ ไป แม้ว่าจะผ่านพ้นวิกฤติ COVID-19 ไปแล้วก็ตาม

ตาราง 1 มูลค่าความสูญเสียจากอุบัติเหตุและเสียชีวิตในช่วงสงกรานต์ ปี 2560 และ 2563

ที่มา:

- ข้อมูลผู้ได้รับบาดเจ็บ: ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ กองสาธารณสุขฉุกเฉิน

- ข้อมูลต้นทุน: การประเมินต้นทุนเศรษฐศาสตร์จากอุบัติเหตุการจราจรทางบก ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2560. มนทรัตม์ ถาวรเจริญทรัพย์.

ผู้เขียน : ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา

ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว