ในสถานการณ์การระบาดของโคโรนาไวรัส 2019 (COVID-19) มีการเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับแอลกอฮอล์และ COVID-19 มากมาย ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่ว่า การดื่มหรือใช้วอดก้ากลั้วคอช่วยป้องกัน COVID-19 ได้ เนื่องจากหวังว่าแอลกอฮอล์จะไปช่วยฆ่าเชื้อในลำคอ ในความเป็นจริง ความเข้มข้นของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นไม่เพียงพอที่จะฆ่าเชื้อได้ (เข้มข้นไม่ถึง 70%) ในประเทศอิหร่านมีผู้หลงเชื่อข้อมูลนี้ พากันไปดื่มเหล้าเถื่อนที่ความเข้มข้นแอลกอฮอล์สูงจนเสียชีวิตไปแล้วถึง 300 รายเป็นที่น่าสลดใจ (1)
สำหรับในเมืองไทย ก็มีเหตุติดเชื้อที่เกิดจากการดื่มสุราร่วมกันในสถานบันเทิงจนกลายเป็นกลุ่มผู้ติดเชื้อกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งที่ยังคงมีรายงานการติดเชื้อรายใหม่ที่เริ่มต้นจากกลุ่มนี้เพิ่มมาทุกวัน นอกจากการติดเชื้อจากเหตุการณ์สังสรรค์ที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาเกี่ยวข้องแล้ว ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์เองยังส่งผลถึงระบบภูมิคุ้มกันที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้ในหลายรูปแบบ
การดื่ม เพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ
ข้อมูลทางวิชาการที่ทราบกันมาอย่างยาวนาน คือ ผู้ที่ติดแอลกอฮอล์มีความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัสเพิ่มขึ้น 3-7 เท่า (2) ในการศึกษาชิ้นหนึ่ง นักวิจัยได้ส่องกล้องลงไปในหลอดลมของผู้ที่ติดแอลกอฮอล์เปรียบเทียบกับคนปกติ พบว่า เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด macrophage ที่ทำหน้าที่ทำลายเชื้อแบคทีเรียในหลอดลมมีการทำงานที่ลดลงซึ่งทำให้ติดเชื้อในปอดง่ายขึ้น (3)
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Wagenigen ประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2007 พบว่า ในกลุ่มผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปี การดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดไข้หวัดให้สูงขึ้นประมาณ 30% เมื่อเทียบกับผู้สุงอายุที่ไม่ดื่ม (4) ทั้งนี้การเกิดไข้หวัดนั้นอาจจะเกิดจากไวรัสได้หลายตัว เช่น ไรโนไวรัส, ไวรัสอาร์เอสวี รวมไปถึงโคโรนาไวรัสซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับ COVID-19 อีกด้วย
ในปี 1992 มีการสอบสวนการระบาดของวัณโรคในเมือง Minneapolis ผู้ป่วยวัณโรคเพียง 1 คนไปดื่มสุราที่บาร์แห่งหนึ่งและได้แพร่เชื้อให้กับคนอื่นๆ ถึง 41 คน ที่เป็นลูกค้าหรือพนักงานในบาร์แห่งนั้น การแพร่ระบาดในครั้งนั้นเป็นการแพร่ระบาดในอัตราที่สูงกว่าปกติ นักวิจัยสรุปว่า การแพร่ระบาดที่สูงนี้มาจากการที่ผู้ที่ติดเชื้อมีพฤติกรรมดื่มหนักทำให้ติดเชื้อวัณโรคได้ง่ายขึ้น (5) ข้อมูลจากอีกการศึกษาหนึ่ง พบว่า ผู้ที่ติดแอลกอฮอล์จะตรวจพบเชื้อวัณโรคในเสมหะเยอะกว่าและมีโอกาสดื้อยาสูง (6) นอกจากนี้ ในแม่ที่กำลังตั้งครรภ์และใกล้คลอดหากดื่มแอลกอฮอล์จะเพิ่มความเสี่ยงที่ทารกแรกคลอดจนถึงอายุ 3 เดือนจะติดเชื้อในปอดเป็น 2.9 เท่าของปกติ (7)
การติดแอลกอฮอล์หรือการดื่มหนักจึงเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจจากการทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในปอดอ่อนแอลง และการดื่มของแม่ที่ตั้งครรภ์ยังส่งผลถึงการติดเชื้อในปอดของทารกแรกเกิดอีกด้วย
การดื่ม เพิ่มความรุนแรงของการติดเชื้อในปอด
มีการวิจัยในหนูทดลองเพื่อศึกษาผลของการดื่มแอลกอฮอล์ต่อการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ โดยเปรียบเทียบหนูทดลองที่ถูกป้อนแอลกอฮอล์เป็นระยะเวลา 4-8 สัปดาห์ เปรียบเทียบกับหนูทดลองที่ดื่มน้ำปกติ โดย University of Iowa พบว่า หนูทดลองที่ดื่มแอลกอฮอล์มีอัตราการตายจากโรคไข้หวัดใหญ่สูงถึง 50% ส่วนหนูทดลองที่ดื่มน้ำปกติมีอัตราตายจากการติดเชื้อเพียง 1% หนูทดลองที่ดื่มแอลกอฮอล์ยังตรวจพบ เชื้อไวรัสในปริมาณที่สูงกว่า และตรวจพบเชื้อไวรัสเป็นระยะเวลานานกว่ากลุ่มควบคุม (8) ในอีกงานวิจัยหนึ่งที่ศึกษาในหนูทดลองเช่นกัน พบว่า หนูที่ดื่มแอลกอฮอล์มีภูมิต้านทานที่ลดลง โดยเฉพาะการทำงานของเม็ดเลือดขาวชนิด CD8 T cell ที่จำเพาะกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ และมีสารภูมิคุ้มกันที่ต่อต้านไวรัสที่เรียกว่า interferon gamma ลดลงด้วย หนูทดลองที่ดื่มแอลกอฮอล์ยังมีความเสียหายของเนื้อปอดจากไข้หวัดใหญ่มากกว่าหนูทดลองที่ไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์ (9)
การศึกษาที่ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ป่วยโรคปอดติดเชื้อในประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวน 23,198 คน พบว่า ผู้ที่ติดแอลกอฮอล์หรือมีปัญหาสุขภาพอื่นๆ จากการดื่มที่มีอาการของปอดติดเชื้อ มีโอกาสที่จะเกิดระบบทางเดินหายใจล้มเหลวและต้องเข้าไอซียูมากกว่าคนที่ไม่มีโรคจากการดื่มแอลกอฮอล์ถึง 60% และต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนานกว่า (10) โดยทั่วไป ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจากแอลกอฮอล์มีความเสี่ยงในการเกิดระบบทางเดินหายใจล้มเหลวเพิ่มขึ้น 3.7 เท่า (11-13) อาการระบบทางเดินหายใจล้มเหลว หรือ Acute Respiratory Distress Syndrome (ARDS) นี้เองที่เป็นสาเหตุหลักในการเสียชีวิตของผู้ป่วย COVID-19
ดังนั้น การติดแอลกอฮอล์หรือการดื่มหนักนอกจากจะเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจแล้ว ยังทำให้ความรุนแรงของโรคสูงขึ้นจากการเพิ่มความเสี่ยงในการที่เนื้อปอดถูกทำลาย และการเกิดระบบหายใจล้มเหลวอีกด้วย
ลด ละ การดื่ม สู้ภัย COVID-19
การศึกษาวิจัยข้างต้น แม้จะไม่ใช่การศึกษาในผู้ติดเชื้อ COVID-19 โดยตรง เนื่องจากเป็นเชื้อใหม่ที่เพิ่งค้นพบ แต่ก็สามารถนำมาปรับใช้ในการปฏิบัติตนเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ COVID-19 ได้ นอกจาก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” หรือมาตรการห่างกันสักพัก (social distancing) แล้ว การลด ละ การดื่มไปสักพัก ก็เป็นอีกมาตรการที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ COVID-19 และลดความรุนแรงของโรคลงได้อีกทาง หากใครใจถึง ก็ขอเอาใจช่วยให้ “เลิก” ดื่มแอลกอฮอล์ได้ในช่วงวิกฤติโรคระบาดครั้งนี้ ถือเป็นการเอาชนะใจตัวเอง ไปพร้อมกับประเทศไทยที่ต้องชนะเจ้าเชื้อ COVID-19 ให้ได้
ผู้เขียน : ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
อ้างอิง
References
1.กรุงเทพธุรกิจ. อิหร่าน‘ซดเหล้าเถื่อน’รักษาโควิดตายเพิ่มเป็น 300. 2563.
2.Schmidt W, De Lint J. Causes of death of alcoholics. Q J Stud Alcohol. 1972;33(1):171-85.
3.Mehta AJ, Yeligar SM, Elon L, Brown LA, Guidot DM. Alcoholism causes alveolar macrophage zinc deficiency and immune dysfunction. Am J Respir Crit Care Med. 2013;188(6):716-23.
4.Van der Horst Graat JM, Terpstra JS, Kok FJ, Schouten EG. Alcohol, smoking, and physical activity related to respiratory infections in elderly people. J Nutr Health Aging. 2007;11(1):80-5.
5.Kline SE, Hedemark LL, Davies SF. Outbreak of tuberculosis among regular patrons of a neighborhood bar. N Engl J Med. 1995;333(4):222-7.
6.Rudoy NM, editor Tuberculosis and alcoholism. Seminars in respiratory and critical care medicine; 1997: Copyright© 1997 by Thieme Medical Publishers, Inc.
7.MacGinty R, Lesosky M, Barnett W, Nduru PM, Vanker A, Stein DJ, et al. Maternal psychosocial risk factors and lower respiratory tract infection (LRTI) during infancy in a South African birth cohort. PLoS One. 2019;14(12):e0226144.
8.Meyerholz DK, Edsen-Moore M, McGill J, Coleman RA, Cook RT, Legge KL. Chronic alcohol consumption increases the severity of murine influenza virus infections. J Immunol. 2008;181(1):641-8.
9.Hemann EA, McGill JL, Legge KL. Chronic ethanol exposure selectively inhibits the influenza-specific CD8 T cell response during influenza a virus infection. Alcohol Clin Exp Res. 2014;38(9):2403-13.
10.Saitz R, Ghali WA, Moskowitz MA. The impact of alcohol-related diagnoses on pneumonia outcomes. Arch Intern Med. 1997;157(13):1446-52.
11.Moss M, Bucher B, Moore FA, Moore EE, Parsons PE. The role of chronic alcohol abuse in the development of acute respiratory distress syndrome in adults. JAMA. 1996;275(1):50-4.
12.Ritzenthaler JD, Roser-Page S, Guidot DM, Roman J. Nicotinic acetylcholine receptors are sensors for ethanol in lung fibroblasts. Alcohol Clin Exp Res. 2013;37(6):914-23.
13.Morris NL, Ippolito JA, Curtis BJ, Chen MM, Friedman SL, Hines IN, et al. Alcohol and inflammatory responses: summary of the 2013 Alcohol and Immunology Research Interest Group (AIRIG) meeting. Alcohol. 2015;49(1):1-6.
- 270 views