เครือข่ายภาคประชาชน-มูลนิธิฯ ประสาน สปสช.-หน่วยงานรัฐ ลงพื้นที่ตรวจคัดกรอง COVID-19 แก่ชุมชน-คนไร้บ้านแถบท่าน้ำนนท์ หวังเป็นโมเดลดูแลกลุ่มเปราะบางพื้นที่อื่นๆ คาดหลังสถานการณ์คนไร้บ้านอาจเพิ่มขึ้น 30%
น.ส.วรรณา แก้วชาติ ผู้ประสานงานมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เปิดเผยถึงกิจกรรมลงพื้นที่ตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ให้กับประชาชนและกลุ่มคนไร้บ้านบริเวณพื้นที่ท่าน้ำนนทบุรี เขตเทศบาลนครนนทบุรี จำนวนกว่า 200 คน เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ จุดเริ่มต้นเนื่องจากก่อนหน้านี้ทางเครือข่ายคนไร้บ้านและมูลนิธิฯ ได้มีการนำอาหารและสิ่งของจำเป็นลงมาแจกจ่ายให้กับชาวชุมชนและกลุ่มคนไร้บ้านบริเวณดังกล่าว แต่พบว่าคนส่วนใหญ่มีปัญหาด้านสุขภาพ โดยเป็นโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน รวมถึงมีวัณโรคร่วมด้วย แต่เมื่อพบแล้วก็ไม่รู้ว่าจะส่งต่อไปที่ไหนอย่างไร ทำให้คนเหล่านี้ต้องนอนอยู่ที่เดิม ไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้
“จากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้เราเป็นห่วงพี่น้องกลุ่มนี้ว่าจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง จึงได้ลงมาพูดคุยและชักชวนไปอยู่ศูนย์พักคนไร้บ้านของทางมูลนิธิฯ ที่ จ.ปทุมธานี แต่หลายคนยังสะดวกอยู่ในที่สาธารณะมากกว่า ดังนั้นจะช่วยให้เขารอดจากสถานการณ์อย่างไรได้บ้าง จึงคิดว่าเราควรสร้างเครือข่ายหน่วยบริการในพื้นที่ และ สปสช.มาร่วมสนับสนุนให้คนเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ” น.ส.วรรณา ระบุ
น.ส.วรรณา กล่าวว่า กลุ่มคนไร้บ้านที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะนั้นมีความเสี่ยงมากกว่าคนอื่นๆ ทั้งการที่จะติดเชื้อและแพร่เชื้อ COVID-19 ฉะนั้นหากสามารถคัดกรองโรคในพื้นได้ก็จะลดการแพร่กระจายเชื้อ และเมื่อเจอผู้ป่วยแล้วถ้ามีคลินิกหรือหน่วยบริการต่างๆ เข้ามาร่วมมือกันให้สามารถส่งต่อเคสกันได้ ก็จะช่วยลดภาระรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ด้วยความร่วมมือระหว่างภาคประชาชนและภาครัฐ
“อาชีพเป็นเรื่องสำคัญ แต่สุขภาพก็เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าคนเจ็บป่วยแล้วไม่ได้รับการรักษาก็จะทำให้เขาไม่สามารถลุกขึ้นมาสู้กับภาวะเศรษฐกิจต่อไปได้ ซึ่งคนไร้บ้านเป็นกลุ่มเปราะบางอยู่แล้ว เขาไม่สามารถที่จะมีชีวิตได้ถ้าไม่มีใครยื่นมือเข้ามาช่วย และเมื่อทำให้หน่วยงานเห็นความสำคัญของที่นี่ เราก็ยังมีพื้นที่เครือข่ายคนไร้บ้านอีกมาก ที่รอรับการตรวจคัดกรองเพื่อลดความเสี่ยง” น.ส.วรรณา กล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ทางเครือข่ายฯ จะมีการลงพื้นที่เพื่อแจกอาหารเป็นประจำ รวมถึงชักชวนคนไร้บ้านไปยังศูนย์พักเพื่อฟื้นฟูให้สามารถตั้งหลักชีวิตได้ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถสร้างความยั่งยืนหรือแก้ไขปัญหาในระยะยาว เพราะสิ่งสำคัญคือหน่วยงานรัฐจะต้องสนับสนุนประชาชนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ทั้งในด้านอาชีพ เศรษฐกิจ มาตรการเยียวยา และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะมีบัตรประชาชนหรือไม่
“คนไร้บ้านแถบท่าน้ำนนท์ที่อยู่ประจำย่านนี้มีประมาณ 30-40 คน ส่วนหนึ่งมีตลาดและอยู่ใกล้วัด สามารถไปรับจ้างได้งานประปรายบ้าง แต่ตอนนี้ไม่มีงาน ทุกคนตกงานถ้วนหน้า ซึ่งเราคาดการณ์ว่าหลัง COVID-19 จะมีจำนวนคนไร้บ้านเพิ่มมากขึ้น เพราะกำลังมีแรงงานที่ไม่มีเงินจ่ายค่าเช้าห้อง และต้องเลือกออกมาอยู่อาศัยในที่สาธารณะ ซึ่งอาจเพิ่มประมาณ 30%” น.ส.วรรณา ระบุ
น.ส.วรรณา กล่าวอีกว่า กิจกรรมตรวจคัดกรองคนไร้บ้านที่ท่าน้ำนนทบุรีนี้เป็นที่แรก และอยากให้เป็นโมเดลในการตรวจคัดกรองโรคไปยังพื้นที่อื่นๆ ตลอดจนการสร้างเครือข่ายรวบรวมกลุ่มคนไร้บ้านในจังหวัดต่างๆ ซึ่งนอกจากลงไปตรวจคัดกรองสุขภาพแล้ว ยังเข้าไปพูดคุยเพื่อรับคนไร้บ้านที่มีความพร้อมเข้าไปฟื้นฟูยังศูนย์พัก แก้ไขปัญหาชีวิตและผลักดันให้เขาเหล่านี้สามารถกลับไปสู่สังคมใช้ชีวิตเหมือนคนปกติได้
ด้าน นายบุญปั๋น วรรณรัตน์ อดีตคนไร้บ้านพื้นที่ท่าน้ำนนทบุรี กล่าวว่า ตนเดินทางมาจากภาคเหนือเพื่อหางานทำในเมือง แต่กลับต้องสะดุดกับสถานการณ์ COVID-19 ก่อน เช่นเดียวกับเพื่อนที่ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าห้อง และต้องออกมาอาศัยหลับนอนในพื้นที่สาธารณะด้วยกัน ซึ่งผ่านมาแล้วกว่า 1 เดือน โดยกลุ่มคนไร้บ้านบริเวณนี้ส่วนใหญ่ประสบปัญหาเดียวกัน และมีการจับกลุ่มพูดคุยกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเวลามีที่ใดแจกอาหารหรือมีงานให้ทำ
นายบุญปั๋น กล่าวว่า ไม่เพียงเฉพาะกลุ่มคนไร้บ้านเท่านั้น แต่ผู้คนในชุมชนบริเวณนี้เองก็ล้วนประสบกับภาวะขัดสนไม่แตกต่างกัน ทำให้ต้องมารอรับอาหารและความช่วยเหลือด้วย อย่างไรก็ตามหลังจากที่มูลนิธิฯ ได้ลงมาแจกจ่ายอาหารและชักชวนคนไร้บ้านในพื้นที่ไปยังศูนย์พักพิง ตนก็ได้สนใจไปอยู่ ซึ่งขณะนี้ได้อยู่ระหว่างการสร้างห้องเพิ่มเติม ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จก็อยากชวนคนไร้บ้านไปอยู่ด้วยเช่นเดียวกัน ดีกว่าอยู่ตามที่สาธารณะแบบเดิม
- 59 views