วันที่ 21 เม.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศแม้ว่าภาพรวมจะมีสถานการณ์ที่ดีขึ้น แต่มาตรการควบคุมและป้องกันยังต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเพื่อยุติการแพร่ระบาด ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) 8 เมษายนที่ผ่านมาได้เห็นชอบ 7 มาตรการ นำไปสู่การควบคุมและป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดังนี้

1.ส่งยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ให้กับผู้ป่วยรายเก่าทางไปรษณีย์ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยใช้เงินสนับสนุนจากงบกองทุนบัตรทองปี 2563 อัตราไม่เกิน 50 บาท/ครั้ง ที่เป็นข้อเสนอจากกรมการแพทย์ และกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) ทั้งนี้มีหน่วยบริการเข้าร่วมโครงการแล้ว 349 แห่ง อย่างไรก็ตาม สำหรบผู้ป่วยที่สนใจรับยาทางไปรษณีย์ให้ปรึกษาแพทย์ เพราะไม่ใช่ทุกคน แต่จะมีการพิจารณาตามเคส

2. ลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยขยายร้านยา “โครงการรับยาใกล้บ้าน” พร้อมการจัดทำระบบโรงพยาบาลจัดสำรองยาที่ร้านยาและระบบเติมยาผู้ป่วยที่ร้านยา ปัจจุบันมีร้านยาเข้าร่วมประมาณ 1 พันแห่ง

3. ผู้ป่วยโรคเรื้อรังรับยาหรือบริการทางการแพทย์ตามความจำเป็นนอกหน่วยบริการประจำได้ โดยถือเป็นความเจ็บป่วยกรณีฉุกเฉินในมิติของประชาชนภายใต้สถานการณ์โรคระบาด ทั้งนี้ ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

4. จ่ายชดเชยค่าบริการกรณีโรคโควิด-19 ให้กับหน่วยบริการนอกระบบบัตรทอง โดยใช้หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการ กำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการให้กับประชาชน

5. จ่ายชดเชยค่าบริการโรคโควิด 19 ให้โรงพยาบาลสนามหรือหน่วยงานอื่นที่ผ่านการรับรองเกณฑ์การประเมินโดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการที่รับส่งต่อเฉพาะด้าน

6. เสนอแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การรับเงิน การจ่ายเงิน การรักษาเงิน และรายการของค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการสนับสนุนและส่งเสริม การจัดบริการสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายอื่น พ.ศ.2559 โดยให้รายการค่าใช้จ่ายอื่นเพื่อชดเชยค่าเสื่อมของสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์ ปีงบประมาณ 2563 ใช้ซื้อครุภัณฑ์ใหม่ที่เกี่ยวข้องกับ COVID 19 ได้ และเพิ่มอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายกรณีโควิด-19 เป็น 2 เท่าจากเดิม โดยใช้งบกลางจ่ายเพิ่มเติม

“นอกจากนี้ หากบุคลากร หรือทางรพ.มีความเสียหายเบื้องต้นจากโควิด-19 สูงสุด 4 แสนบาท ต่ำสุดติดเชื้อ 1 แสนบาท ทางสปสช.จะเพิ่มเป็น 2 เท่า โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอประกาศ เพื่อให้ความมั่นใจกับบุคลากรสาธารณสุขและทางการแพทย์ในการปฏิบัติงาน รวมทั้งอสม.ด้วย” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว 

7. มอบเลขาธิการ สปสช. และประธานบอร์ด สปสช. พิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข อัตราค่าใช้จ่าย และการจ่ายค่าใช้จ่ายให้แก่หน่วยบริการ เพื่อประโยชน์การบริหารกองทุนทันต่อสถานการณ์การระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว ส่วนการคัดกรองผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามสิทธิประโยชน์กองทุนบัตรทองที่ให้กับคนไทยทุกคนทุกสิทธิที่เป็นมาตรการสำคัญของการค้นหาผู้ติดเชื้อเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ที่ผ่านมา สปสช.ได้เพิ่มเติมให้หน่วยบริการเอกชนสามารถร่วมเป็นหน่วยบริการคัดกรองโควิด-19 เชิงรุกในชุมชนได้ ซึ่งเป็นไปตามประกาศ เรื่อง “แนวทางการให้บริการตรวจคัดกรองและตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) นอกสถานพยาบาล” ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2563 พร้อมกันนี้ สปสช.ได้ขึ้นทะเบียนหน่วยบริการห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ (แลป) ในการตรวจเชื้อโควิด 19 ที่ผ่านเกณฑ์การประเมินโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อขยายการตรวจคัดกรองได้อย่างครอบคลุมและรวดเร็ว ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สปสช. ขึ้นทะเบียนหน่วยบริการแล็บโควิด-19 แล้ว 92 แห่ง เป็นหน่วยบริการรัฐ 74 แห่งและหน่วยบริการเอกชน 18แห่ง

ขณะที่ความคืบหน้า “กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่” (กปท.) หรือ “กองทุนสุขภาพตำบล ในการร่วมควบคุมและป้องกันโควิด-19 ในพื้นที่ จากข้อมูลวันที่ 16 เมษายน 2563 มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ ที่ใช้กลไกนี้ในการขับเคลื่อนเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยมีจำนวน 3,264 แห่ง จัดทำ 8,220 โครงการ เป็นงบประมาณ 518.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 ที่มี อปท.ดำเนินโครงการ 1,186 แห่ง จำนวน 1,474 โครงการ นับเป็นอีกหนึ่งกลไกภายใต้กองทุนบัตรทองที่ร่วมแก้ปัญหาโควิด-19