เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 20 เม.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางผ่อนปรนมาตรการล๊อกดาวน์ เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และมอบหมายให้ นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ที่ปรึกษาด้านวิชาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เฉพาะการแก้ปัญหาการระบาดโรคโควิด-19 เป็นผู้ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม
นพ.คำนวณ กล่าวว่า จากการหารือทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าต้องมีการเปลี่ยนผ่านวิกฤตโควิด-19 แต่ไม่ได้กลับไปเหมือนเดิมทุกประการ โดยการเปลี่ยนผ่านต้องมีเงื่อนไขบางประการ ซึ่งอยู่ระหว่างที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเซ็นหนังสือกรอบความคิดนี้ เสนอต่อศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และหารือภาคส่วนต่างๆ เพื่อทำเป็นมาตรการระดับประเทศต่อไป
นพ.คำนวณ กล่าวต่อว่า โดยมาตรการทางด้านสาธารณสุขยังต้องทำอย่างเข้มข้น 1.การเดินทางเข้าประเทศไทยยังต้องมีใบรับรองแพทย์ มีประกันสุขภาพ เข้ามาแล้วต้องถูกกักตัว 14 วัน ในขณะเดียวกันต้องมีการค้นหาคนกลุ่มเสี่ยงที่อยู่กันแออัด เช่น ชุมชน กลุ่มแรงงานต่างชาติ และตรวจทางห้องปฏิบัติการอย่างเข้มข้น เป็นต้น 2. คนไทย สังคม องค์กรต้องสร้างข้อตกลงว่าจะปฏิบัติสุขลักษณะที่ถูกต้อง ออกมายังที่สาธารณะต้องสวมหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า ต้องอยู่ห่างกัน การใช้ชีวิตจะไม่เหมือนเดิมที่จะไปรวมกลุ่มกัน 10 คน ดังนั้นการชุมนุมต่างๆ ต้องงด
3. ภาคธุรกิจ ตอนนี้มีคนตกงาน 7-10 ล้านคน แต่ทราบว่าสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรม การหารือร่วมกันถึงการเปิดดำเนินธุรกิจ โดยแบ่งธุรกิจตามความเสี่ยงตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เป็นความเสี่ยงสูง กลาง ต่ำ และไปหามาตรการปรับให้มีความเสี่ยงน้อยที่สุด ส่วนสถานประกอบกิจการบางอย่างที่มีความเสี่ยงสูง และพิสูจน์ทราบว่าเป็นต้นกำเนิดการระบาด เช่น สถานบันเทิง ผับ บาร์ สถานบริการทางเพศทั้งทางตรง ทางอ้อม สนามพนัน บ่อน เป็นต้น จะต้องปิดยาวจนกว่าสถานการณ์จะปกติ ทั้งนี้อนาคตถ้าจะปิดกิจการอะไรบางอย่างก็จะไม่ทำครอบจักรวาล จะทำเฉพาะจุดที่เป็นต้นตอปัญหา ดังนั้นต้องเฝ้าระวังแบบเรียลไทม์ ทั้งระดับประเทศ จังหวัด อำเภอ หากพบพื้นที่ใดมีความเสี่ยงต้องตักเตือน และชะลอ
อย่างไรก็ตาม มาตรการที่จะเดินหน้านั้น ไม่ใช่ทำพร้อมกันทั้งประเทศ แต่จะแบ่งเป็นพื้นที่ตามข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งข้อมูลเมื่อ 2-3 วันก่อน โยกลุ่มแรกมี 32 จังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วยในรอบ 14 วัน ถือเป็นจังหวัดที่มีการติดเชื้อระดับต่ำสามารถเปลี่ยนผ่านได้ในต้นเดือน พ.ค. แต่อาจจะทดลอง 3-4 จังหวัด ขึ้นกับความพร้อม หลังจากนั้น อีก 2 สัปดาห์หากสถานการณ์เรียบร้อยดี จะเดินหน้าอีก 38 จังหวัดที่มีการติดเชื้อประปรายในรอบ 14 วัน ส่วนอีก 7 จังหวัดที่มีการติดเชื้อต่อเนื่อง แต่ไม่มีการระบาดใหญ่ ก็เริ่มประมาณ ต้น มิ.ย. ถ้าทำได้ เป็นการเปลี่ยนผ่านแบบระมัดระวังไม่พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดเป็นระลอกที่ 2, 3 เหมือนบางประเทศ และทำให้เกิดความสมดุลในการใช้ชีวิต และธุรกิจเดินหน้าได้
เมื่อถามถึงเกณฑ์การพิจารณาความเสี่ยงของสถานประกอบกิจการ นพ.คำนวณ กล่าวว่า ดูจาก 1. ความหนาแน่นของคนที่ไปใช้บริการ 2. ลักษณะการเข้าไปใช้บริการถ้ามีการใช้เสียง ตะโกน ถือเป็นความเสี่ยงสูง 3. เรื่องการถ่ายเทอากาศ ทำได้ดีหรือไม่ และ 4. สามารถจัดให้มีการเว้นระยะห่างได้หรือไม่ เป็นต้น อย่างเช่นร้านตัดผม เปิดได้ แต่ต้องใช้ระบบการนัดหมายเข้ารับบริการ ไม่ให้ไปนั่งรอ ร้านอาหารต้องไม่นั่งรวมจำนวนมาก ต้องจัดให้นั่งห่าง สวนสาธารณะควรเปิดให้ไปใช้บริการออกกำลังกาย แต่ไม่ให้จัดกิจกรรมรวมกลุ่ม ส่วนห้างสรรพสินค้าเปิดได้ แต่ต้องคำนวณจำนวนคนที่เข้าไปใช้บริการไม่ให้หนาแน่น ห้ามจัดโปรโมชั่น นาทีทอง หรือนำศิลปินนักร้องไปจัดกิจกรรมเพื่อจูงใจให้คนไปรวมกลุ่มกันมากๆ ห้องน้ำต้องห้ามไปยืนรอรวมกลุ่ม และมีแอพพลิเคชั่นติดตามตัวคนที่ไปใช้บริการ ส่วนโรงเรียนเปิดตามกำหนดที่ออกมาก่อนหน้านี้คือ เดือน ก.ค. แต่ห้ามจัดกิจกรรมเข้าค่ายต่างๆ ส่วนโรงเรียนที่มีห้องเรียนติดแอร์ก็ต้องเฝ้าระวังเพิ่มด้วย
เมื่อถามถึงการเปิดในกรุงเทพฯ และนนทบุรี นพ.คำนวณ กล่าวว่า ทั้ง 2 จังหวัดนี้เป็นกลุ่มสุดท้ายเลย และพิจารณาเป็นพื้นที่ๆ ไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเอกสารประกอบการประชุม ภาคผนวกที่ 1 ระดับการระบาดของจังหวัด จะมีการอัปเดตทุกวันและพิจารณารายชื่อจังหวัดก่อนสิ้นเดือน เม.ย.อีกครั้ง
*** เบื้องต้นข้อมูลวันที่ 14 เม.ย. พบว่า
กลุ่ม 1 จังหวัดที่ไม่พบผู้ป่วยในช่วง 14 วัน 32 จังหวัด ได้แก่ น่าน กำแพงเพชร พิจิตร สิงห์บุรี อ่างทอง ชัยนาท บึงกาฬ ตราด ระนอง จันทบุรี เพชรบูรณ์ แพร่ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด สุโขทัย อุทัยธานี กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครนายก นครพนม พังงา สกลนคร สตูล หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี พิษณุโลก แม่ฮ่องสอน ลพบุรี สระบุรี
กลุ่ม 2 พบผู้ป่วยในรอบ 14 วันแบบประปรายในวงจำกัดไม่เกิน 5 ราย ต่อสัปดาห์ สามารถหาความเชื่อมโยงของผู้ป่วยได้ รวม 38 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี เชียงใหม่ นราธิวาส กระบี่ กาญจนบุรี ขอนแก่น ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครปฐม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา พะเยา พัทลุง เพชรบุรี ระยอง ราชบุรี ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สงขลา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระแก้ว สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ หนองคาย อุตรดิตถ์ อุบลราชธานี
กลุ่มที่ 3 จังหวัดที่พบผู้ป่วยในช่วง 14 วันย้อนหลัง แบบมีการแพร่เชื้อต่อเนื่องมากว่า 5 รายต่อสัปดาห์และไม่สามารถหาความเชื่อมโยงของผู้ป่วยได้ มี 7 จังหวัด คือ กรุงเทพ ชลบุรี นนทบุรี ภูเก็ต สมุทรปราการ ปัตตานี และยะลา.
- 6 views