สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ยังคงแพร่กระจายหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย แม้จะมีมาตรการในการควบคุมการระบาด มีการประกาศมาตรการล็อกดาวน์มากมาย แต่ความหวังของการควบคุมการระบาด นอกจากยารักษาแล้ว สิ่งสำคัญ คือ การมี วัคซีนในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19
ล่าสุดวันที่ 17 เม.ย. ผู้สื่อข่าว Hfocus ได้สัมภาษณ์ “ดร.ภก. นรภัทร ปีสิริกานต์” รักษาการผู้อำนวยการกองผลิตวัคซีนจากไวรัส ฝ่ายชีววัตถุ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เปิดเผยถึงความหวังของมวลมนุษยชาติ ว่า หลังจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยรายชื่อทีมวิจัยวัคซีนอย่างเป็นทางการว่ามี 70 บริษัทที่กำลังพัฒนาวัคซีน ล่าสุดมี 3 บริษัทที่อยู่ระหว่างการทดสอบในมนุษย์ โดยข้อมูล ณ วันที่ 17 เม.ย.2563 พบว่า บริษัทวัคซีนสัญชาติจีน คือ บริษัทแคนสิโน ไบโอโลจิคัล ได้มีการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 และผ่านการทดสอบทางคลินิกในมนุษย์ระยะที่ 1 (เฟส1) และได้เข้าสู่การทดสอบทางคลินิกในมนุษย์เฟส 2 แล้ว
ดร.ภก. นรภัทร ปีสิริกานต์
“โดยหากวัคซีนของจีนผ่านการทดสอบในมนุษย์เฟสที่ 2 ก็จะเข้าสู่เฟสที่ 3 ภายในปี 2564 หากสำเร็จก็นำมาใช้ป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้ ซึ่งเร็วที่สุดน่าจะช่วงกลางปี 2564 ส่วนอีก 2 บริษัท เป็นของสหรัฐอเมริกา จะทยอยตามมา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบระยะที่ 1 คือ บริษัทโมเดอร์นา และ บริษัทอิโนวิโอ นอกนั้นยังมีบริษัทอื่นๆอีก 4 บริษัทที่จ่อคิว ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติจีน อังกฤษ และเยอรมนี” รักษาการผู้อำนวยการกองผลิตวัคซีนจากไวรัส กล่าว
ดร.ภก. นรภัทร กล่าวอีกว่า สำหรับการพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ เป็นการพัฒนาที่รวดเร็วมากกว่าปกติ เนื่องจากโดยปกติการพัฒนาวัคซีนต้องใช้เวลาหลายปี แต่ครั้งนี้ผ่านการรับรองการอนุมัติต่างๆด้วยวิธี fast-track หรือผ่านช่องทางพิเศษ เนื่องจากการระบาดครั้งนี้ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ แต่เป็นการระบาดในวงกว้างหลายประเทศทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม สำหรับการทดสอบวัคซีน เมื่อผ่านการทดสอบในสัตว์ทดลองแล้ว ก็จะต้องเข้าสู่การทดสอบทางคลินิก หรือการวิจัยในมนุษย์ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ทดสอบในมนุษย์ระดับ 50 คนเน้นความปลอดภัย ระยะที่ 2 ทดสอบในระดับ 500 คน ดูความปลอดภัย และภูมิต้านทานวิทยา และระยะที่ 3 ทดสอบในระดับกว้าง 5,000 คนขึ้นไปทดสอบทั้งความปลอดภัย ภูมิต้นทานวิทยา และประสิทธิผลของวัคซีน
ภาพจาก xinhuathai
ผู้สื่อข่าวถามว่า สำหรับประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการวิจัยวัคซีนตรงนี้ได้อย่างไร...
ดร.ภก.นรภัทร กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการประชุมหารือหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งวางกลยุทธ์หลักๆ ดังนี้ 1.เป็นความร่วมมือในการนำวัคซีนจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย ผ่านการศึกษาวิจัย ซึ่งในการทดสอบทางคลินิกระยะที่ 3 ไทยได้ร่วมในการศึกษาครั้งนี้ โดยจะเป็นความร่วมมือกัน ซึ่งการทดสอบครั้งนี้จะมีหลายเชื้อชาติ หลายกลุ่มอายุ แบ่งออกเป็นภูมิภาค และ2.เป็นการสนับสนุนผู้วิจัยของประเทศไทยเอง ซึ่งมีหลายองค์กรด้วยกัน ทั้งหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข มีองค์การเภสัชกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ฯลฯ ร่วมกับหน่วยงานทั้งรัฐ เอกชน โรงเรียนแพทย์ จุฬา มหิดล ฯลฯ มาร่วมพัฒนาวัคซีนขึ้นใช้เอง ซึ่งเป็นการพึ่งพาตัวเองนั่นเอง
“เราต้องทำควบคู่กัน ทั้งใช้จากต่างประเทศ ในรูปแบบการวิจัย ร่วมกับเราต้องพึ่งพาตนเองด้วยการพัฒนาวัคซีนขึ้นเอง ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่า การวิจัยจะเป็นในกลุ่มแค่ 5,000 คน ในส่วนประชาชนอื่นๆจะสามารถใช้วัคซีนได้หรือไม่ ตรงนี้หากผ่านการทดสอบเฟส 3 ก็จะสามารถใช้ได้ ส่วนการนำเข้าก็จะเป็นการหารือกันว่า จะออกมาในรูปแบบไหน แต่ของไทยก็ต้องพึ่งพาตัวเองด้วยการพัฒนาวัคซีนขึ้นใช้เองด้วย เรียกว่าต้องทำควบคู่กันไป” รักษาการผู้อำนวยการกองฯ กล่าว
ภาพจาก xinhuathai
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า หากเชื้อไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ วัคซีนที่พัฒนาและผ่านการทดสอบจะใช้ได้อีกหรือไม่ ...
ดร.ภก. นรภัทร กล่าวว่า ไม่ต้องกังวล เพราะการพัฒนาวัคซีนจะต้องมีการติดตามตลอดว่า แต่ละปีจะมีการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์อย่างไร แต่ก่อนอื่นเราต้องมีวัคซีนต้นแบบก่อน
ถือเป็นความหวังในการต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 หรือไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 รอลุ้นประสิทธิผลของวัคซีนกลางปี 2564 ระหว่างนี้ยังต้องเข้มมาตรการป้องกันตัวเอง ทั้งสวมหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล หรือ social distancing ต่อไป
- 65 views