กระทรวงสาธารณสุขขยายเกณฑ์ผู้ป่วยต้องสอบสวนโรค และตรวจทางห้องแล็บเพิ่มเติม ประชาชนกลุ่มที่ป่วยและผู้ที่สัมผัส เข้าถึงการตรวจในห้องปฏิบัติการมากขึ้น โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ส่วนกลุ่มที่ไม่มีอาการ อาจไม่ได้ป่วย แต่สัมผัส จะต้องรีบจำแนกทันทีเมื่อมีการพบผู้ป่วยยืนยัน และจะทำการตรวจ พร้อมปรับเกณฑ์สอบสวนโรคบุคลากรทางการแพทย์ให้แยกออกจากสถานพยาบาล เตรียมพร้อมเฝ้าระวังการระบาดกลุ่มก้อนรับมือเข้าฤดูฝน เปิด 9 กลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 7 เม.ย. 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ขยายเกณฑ์ผู้ป่วยต้องสอบสวนโรคและการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) รวมทั้งกลุ่มที่ไม่แสดงอาการ แต่มีความเสี่ยงสูง โดยแบ่งรายละเอียดออกเป็น 4 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1 คัดกรองด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ ซึ่งเดิมเน้นคัดกรองคนเดินทางจากประเทศจีน จากนั้นก็ขยายเรื่อยๆ ซึ่งปัจจุบันมีการปรับนิยามให้ครอบคลุมทุกประเทศทั่วโลก ร่วมกับการคัดกรองว่ามีไข้สูงตั้งแต่ 37.3 องศา หรือมีอาการของระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง
กรณีที่ 2 เฝ้าระวังในสถานพยาบาล อย่างกรณีผู้ติดเชื้อที่มีอาการ ไข้ อาการโรคระบบทางเดินหายใจ ปอดอักเสบ สัมพันธ์กับประกอบอาชีพเสี่ยงสัมผัสคนต่างชาติจากทุกประเทศ ที่เข้าไทยในระยะ 14 วัน หากคนไทยที่มีอาชีพสัมผัสแล้วมีอาการต้องได้รับการสอบสวน และรับการตรวจแล็บ นอกจากนี้ ในส่วนกลุ่มผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ ทั้งหาสาเหตุไม่ได้ หรือรักษาไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง มีอาการรุนแรง หรือเสียชีวิตหาสาเหตุไม่ได้ หรือภาพถ่ายรังสีปอดเข้าได้กับโรคโควิด-19 กลุ่มพวกนี้จะต้องได้รับการสอบสวน
กรณีที่ 3 การเฝ้าระวังในบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข แยกออกจากกลุ่มการเฝ้าระวังในสถานพยาบาล ซึ่งที่ผ่านมาพบรายงานบุคลากรติดเชื้อต่อเนื่อง อย่างล่าสุดเมื่อวานนี้( 6 เม.ย.) ที่ รพ.วชิระภูเก็ต พบบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งทำการรักษาผู้ป่วยต่างชาติประสบอุบัติเหตุ โดยต่อมาภายหลังได้มีการตรวจพบว่า ติดเชื้อโควิด-19 ทำให้มีผู้สัมผัสกับผู้ป่วยรายนี้จำนวนมากถึง 112 ราย แต่เบื้องต้น 90 กว่ารายตรวจเชื้อเป็นลบ แต่ยังมีความจำเป็นที่ต้องเฝ้าระวังอาการไม่น้อยกว่า 14 วัน ดังนั้น ตามเกณฑ์ใหม่จึงต้องแยกบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขออกมาจากการเฝ้าระวังในสถานพยาบาล โดยใช้ตัวตรวจจับจากอาการไข้ และอาการแสดงโรคระบบทางเดินหายใจและปอดอักเสบ นอกจากนี้ เรากำหนดว่า หากแพทย์ผู้ตรวจมีความสงสัย หรือร่วมกับผู้สัมผัสหรือผุ้สงสัย บุคลากรทางการแพทย์สามารถได้รับการตรวจเชื้อและสอบสวนโรคทุกราย
กรณีที่ 4 การเฝ้าระวังการป่วยเป็นกลุ่มก้อน เพราะอีกไม่นานจะเข้าฤดูฝน อย่าง พ.ค. –มิ.ย. จะเข้าหน้าฝน ซึ่งจะพบไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ดังนั้น หากพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อน โดยมีผลตรวจออกมาว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ให้ผลลบจากทุกรายที่มีการส่งตรวจ ซึ่งหากพบมากกว่า 3 ราย(บุคลากรทางการแพทย์) ต้องถือว่าสงสัยป่วยกลุ่มก้อน แต่ถ้าไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ให้กำหนด 5 ราย
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ส่วนกลุ่มที่ไม่มีอาการ อาจไม่ได้ป่วย แต่สัมผัส โดยกลุ่มนี้จะต้องรีบจำแนกทันทีเมื่อมีการพบผู้ป่วยยืนยัน และจะทำการตรวจ หากตรวจพบว่ามีไข้ ก็จะเข้าสู่เกณฑ์การจัดการในส่วนของผู้ป่วย แต่หากไม่มีไข้ก็ต้องดำเนินการเฝ้าระวังที่บ้าน 14 วัน โดยกลุ่มเหล่านี้ ประกอบด้วย 9 กลุ่ม ดังนี้ 1.สมาชิกในครอบครัว 2.ผู้ท่องเที่ยวร่วมกลุ่ม 3. ผู้โดยสารแถวเดียวกัน +2 แถวหน้า+2 แถวหลัง 4. พนักงานบนเครื่องบิน โซนผู้ป่วย 5.เจ้าหน้าที่ด่านที่ตรวจผู้ป่วย 6.แพทย์พยาบาล คนมาเยี่ยมที่ไม่สวมชุดป้องกัน PPE 7.ผู้ป่วยอื่นที่อยู่ห้องเดียวกัน 8.เจ้าหน้าที่ห้องแล็บที่ไม่สวมชุด PPE และ 9.ผู้ร่วมงาน ร่วมโรงเรียน ที่พบปะ ขณะผู้ป่วยมีอาการหรือสัมผัสสารคัดหลั่งโดนไอ จาม โดยทั้งหมด
“ได้มีการหารือร่วมกับสำนักงานประกันสังคม(สปส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และสิทธิอื่นๆ ว่าหากเข้าเกณฑ์ทุกคนจะได้รับการสอบสวน และตรวจทางห้องปฏิบัติการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งทุกสถานพยาบาลรับทราบ และเมื่อมีผู้ป่วยไปรับการตรวจก็จะไม่คิดมูลค่า โดยรับออกให้ จึงขอย้ำว่า จากการปรับนิยามและขยายในส่วนของผู้สัมผัส จะทำให้พี่น้องประชาชนกลุ่มที่ป่วยและผู้ที่สัมผัส เข้าถึงการตรวจในห้องปฏิบัติการมากขึ้น โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งค่าใช้จ่ายภาครัฐจะเป็นผู้ออกนั่นเอง” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว
- 729 views