ก่อนหน้านี้ เทดรอส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวสถานการณ์การระบาดเชื้อโควิด-19 ในวันที่ 16 มี.ค. ที่ผ่านมาว่า
“เรามีข้อความธรรมดา ที่ต้องการส่งต่อถึงทุกประเทศ ‘ตรวจ ตรวจ ตรวจ’ ”
อันเป็นการเรียกร้องให้รัฐบาลทุกประเทศ ใช้มาตรการตรวจเชื้อโควิด-19 กับประชากรของตนเองอย่างเข้มข้นและกว้างขวาง
แม้จะพิสูจน์ได้ว่าการตรวจเชื้ออย่างเข้มข้น เป็นมาตรการที่ป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างดี เช่นในกรณีของเกาหลีใต้ สามารถตรวจเชื้อรวมมากกว่า 300,000 คนในปัจจุบัน
แต่ก็มิใช่ว่าทุกประเทศจะดำเนินมาตรการตรวจเชื้ออย่างเข้มข้น เช่น ในสหรัฐอเมริกา จำนวนผู้ได้รับการตรวจเชื้อต่อประชากร อยู่ที่ 1:273 อังกฤษ 1:404 ขณะที่ประเทศที่มีการตรวจเชื้อแบบปูพรมอย่างเกาหลีใต้อยู่ที่ 1:119 เยอรมนี 1: 90 (ยอดในวันที่ 2 เม.ย. 2563)
ในส่วนของประเทศไทย ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคระบุว่าได้ดำเนินการคัดกรองผู้ป่วยที่เข้าข่ายติดเชื้อ โดยมียอดสะสมรวม 22,453 ราย ในวันที่ 2 เม.ย. ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนผู้ป่วยคัดกรองที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 7 เม.ย. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) แถลงว่า ไทยมียอดการตรวจสะสมรวม 71,860 ราย ไม่ใช่กว่า 2 หมื่นราย
จึงเกิดคำถามว่าทำไมบางประเทศทำมาตรการตรวจเชื้ออย่างเข้มข้นได้ แต่บางประเทศทำไม่ได้ คำตอบคือ ศักยภาพด้านเทคโนโลยีการแพทย์ และนโยบายจากฟากการเมือง ที่ตอบสนองต่อการระบาดของโควิด-19 เร็วหรือช้าต่างกัน
เกาหลีใต้ “รัฐร่วมเอกชน” เพิ่มศักยภาพผลิตชุดตรวจ
ในวันที่ 27 ม.ค. ขณะที่เกาหลีใต้ยังมียอดผู้ติดเชื้ออยู่เพียง 4 ราย กระทรวงสาธารณสุขเรียกรวมตัวแทนบริษัทยาและเครื่องมือทางการแพทย์สัญชาติเกาหลีใต้มากกว่า 20 บริษัท โดยมีการส่งสารถึงตัวแทนบริษัทว่ารัฐบาลเกาหลีใต้ ต้องการชุดตรวจเชื้อโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ “เดี๋ยวนี้”
โดยกระทรวงการความปลอดภัยด้านอาหารและยา (Ministry of Food and Drug Safety) และ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention) จะดำเนินการอนุมัติชุดตรวจด้วยกระบวนการ Fast-track ซึ่งลัดขั้นตอนการอนุมัติผลิตภัณฑ์ จากที่ใช้เวลาอนุมัติหลายเดือน เหลือเวลาเพียงไม่กี่วัน
ภายในสัปดาห์เดียวหลังการเรียกพบตัวแทนบริษัท บริษัทสัญชาติเกาหลี Kogene Biotech Co Ltd สามารถพัฒนาชุดตรวจเชื้อโควิด-19 ได้สำเร็จ โดยใช้วิธีตรวจแบบ RT-PCR มีซึ่งความไว ความจำเพาะสูง ทราบผลภายใน 6 ชั่วโมง และผ่านการอนุมัติจากหน่วยงานรัฐในทันที
บริษัทได้ปล่อยชุดตรวจออกมาในวันที่ 4 ก.พ. และกระจายไปยังโรงพยาบาลและคลินิกทั่วประเทศ ทำให้สามารถตรวจเชื้อโควิดได้มากกว่า 4,200 คนต่อวันในตอนนั้น
ต่อมา บริษัทอื่นๆ พัฒนาชุดตรวจเชื้อโควิด-19 ตามกันออกมา ปัจจุบันมีบริษัทสัญชาติเกาหลีใต้ 5 ราย เช่น SD Biosensor, Seegen และ Sugentech ผลิตชุดตรวจแบบ Mass production ได้รวมประมาณ 135,000 ชุดต่อวัน
ทำให้เกาหลีใต้สามารถใช้มาตรการตรวจเชื้อได้มากถึง 15,000 คนต่อวัน โดยรัฐบาลสนับสนุนให้ตรวจฟรี นั่นย่อมหมายถึงการนำผู้ป่วยเข้ารับการรักษาแต่เนิ่นๆ ทำให้เกาหลีใต้สามารถควบคุมยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 183 ราย จากผู้ติดเชื้อรวม 10,237 คน (ยอดในวันที่ 5 เม.ย. 2563)
ชุดตรวจที่ผลิตออกมาส่วนหนึ่งถูกส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น อินเดีย อิตาลี อิหร่าน และสหรัฐฯ เป็นต้น
ทั้งหมดนี้เป็นผลพวงจากการทำการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ด้านยาและเครื่องมือทางการแพทย์ของเกาหลีใต้มานานนับทศวรรษ
โดยมีประสบการณ์จากการเผชิญหน้ากับโรคซาร์ส (Severe acute respiratory syndrome) และโรคเมอร์ส (Middle East Respiratory Syndrome) ในปี 2546 และ 2558 ตามลำดับ ซึ่งให้บทเรียนกับเกาหลีใต้ว่าต้องมีชุดตรวจโรคคัดกรองเตรียมพร้อม หากเกิดวิกฤติโรคระบาดครั้งหน้า
ชุดตรวจโควิด สร้างกำไรให้บริษัทยาเยอรมนี
ขณะที่ในด้านเยอรมนี การพัฒนาชุดตรวจมิได้เกิดจากคำสั่งของรัฐบาล แต่เกิดจากบริษัทเอกชนที่เห็นโอกาสด้านธุรกิจจากการระบาดเชื้อโควิด-19
บริษัทยา TIB Molbiol Syntheselabor GmbH เป็นบริษัทเจ้าแรกที่พัฒนาชุดตรวจเชื้อโควิด-19 ภายหลังจากเห็นข่าวการระบาดในจีน ด้วยการนำชุดตรวจเชื้อซาร์สเดิม มาพัฒนาเป็นชุดตรวจเชื้อโควิด ได้สำเร็จในวันที่ 10 ม.ค. และออกจำหน่ายในราคา 5,400 บาทต่อชุด
บริษัทดังกล่าวยังมีศักยภาพการผลิตชุดตรวจได้ 1.5 ล้านชุดต่อสัปดาห์ ทำให้เป็นผู้จัดส่งชุดตรวจให้โรงพยาบาลในเยอรมนีรายหลัก และส่งออกชุดตรวจออกไปทั่วโลก ปัจจุบัน เยอรมนีสามารถตรวจเชื้อได้ 12,000 คนต่อวัน
ศักยภาพของภาคเอกชนในการพัฒนาและผลิตชุดตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นปัจจัยหลัก ที่ทำให้กลยุทธ์ตรวจเชื้อแบบปูพรมในเกาหลีใต้และเยอรมนี “เป็นไปได้” ในกรณีของเกาหลีใต้ การตอบสนองของรัฐบาลต่อการระบาด เป็นอีกปัจจัยหลัก
อย่างไรก็ดี ในประเทศที่มีศักยภาพด้านการผลิตยาสูงอย่างสหรัฐฯ กลับไม่สามารถทำมาตรการเดียวกันได้ ทั้งๆ ที่มีบริษัทยาชั้นนำอยู่ในประเทศจำนวนมาก
เหตุเพราะนโยบายจากฟากการเมืองที่ผิดพลาด โดยรัฐบาลสหรัฐฯ มิได้คาดการณ์ว่าจะเกิดการระบาดในประเทศ รวมทั้งมิได้ให้นโยบายแก่ภาคเอกชนในการผลิตชุดตรวจได้ทันท่วงที
รัฐบาลไทยตอบสนองช้า เอกชนขาดศักยภาพผลิตชุดตรวจ
เมื่อมองย้อนกลับมาในไทย มีเสียงเรียกร้องให้ทำมาตรการตรวจเชื้อแบบ “ปูพรม” ทั่วประเทศ คำถามจึงเกิดขึ้นว่า ศักยภาพของไทยทำได้เท่ากับเกาหลีใต้หรือไม่
คำตอบคือ “ทำไม่ได้” ในทันที
ในด้านศักยภาพของเอกชน ไทยไม่ได้มีความได้เปรียบในด้านวิจัยและพัฒนาเทียบเท่าเกาหลีใต้ รวมทั้งไม่ได้มีโรงงานที่มีศักยภาพการผลิตชุดตรวจแบบ RT-PCR จำนวนหลายแสนชุดต่อวัน
หากต้องการตรวจให้ได้เท่าเกาหลีใต้ในทันที ตามสัดส่วนผู้ที่ได้รับการตรวจเชื้อต่อประชากร 1:119 ไทยซึ่งมีประชากร 69 ล้านคน ต้องนำเข้าชุดตรวจ 579,831 ชุด เมื่อคำนวนราคาขายชุดตรวจในตลาดที่ 2,500-5,000 บาท ต้องใช้งบประมาณถึง 1.45-2.90 พันล้านบาท
ถึงแม้มีงบประมาณ ก็ใช่ว่าจะนำเข้าชุดตรวจได้ เช่นในกรณีของฟิลิปปินส์ สามารถนำเข้าชุดตรวจแบบ RT-CPR ได้เพียง 2,000 ชุดในช่วง 2 สัปดาห์ก่อน ทั้งๆ ที่มีประชากรมากกว่า 100 ล้านคน เนื่องจากบริษัทผลิตชุดตรวจในเกาหลีใต้มีออเดอร์จากนานาประเทศจำนวนมาก
ในเชิงนโยบาย รัฐบาลไทยตอบสนองต่อการระบาดของเชื้อโควิด-19 ค่อนข้างช้า หากมีการทุ่มทรัพยากรมาจัดหาชุดตรวจในระยะต้นของการระบาด ก็อาจสามารถตรวจผู้ติดเชื้อได้มากกว่าปัจจุบัน โดยเฉพาะการตรวจหาจากกลุ่มคลัสเตอร์ที่มีการแพร่ระบาด เช่น กลุ่มสนามมวยและสถานบันเทิง
ในบริบทที่กล่าวมาข้างต้น การเพิ่มการเข้าถึงการตรวจในไทยจึงต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้การตรวจในปัจจุบันยังคงทำได้แค่ในเฉพาะกลุ่มที่เข้าข่ายสัมผัสโรคเท่านั้น
ขณะที่การตรวจด้วยชุดตรวจแบบ Rapid test ซึ่งเป็นการตรวจภูมิคุ้มกัน (IgM/IgG) ทราบผลใน 15 นาทีนั้น ยังไม่เป็นที่นิยมในทางการแพทย์ เนื่องจากขาดความแม่นยำและมีความยุ่งยากในการแปลผล
กรมวิทย์ฯขยับ เพิ่มการผลิตชุดตรวจภายในสิ้นเดือนนี้
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ที่ผ่านมา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ประกาศแผนพัฒนาห้องปฏิบัติการตรวจทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัดรวมทั้งสิ้น 104 แห่งภายในสิ้นเดือน เม.ย. โดยจะสามารถรองรับการตรวจได้ 20,000 ตัวอย่างต่อวัน
แบ่งเป็นในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล 10,000 ตัวอย่าง และต่างจังหวัด 10,000 ตัวอย่าง โดยชุดตรวจดังกล่าวใช้น้ำยาที่พัฒนาโดยกรมวิทย์ฯ
นอกจากนี้ กรมวิทย์ฯยังมีการประสานงานกับบริษัท สยามไบโอไซแอนซ์ เพื่อผลิตชุดตรวจแบบ RT-PCR ซึ่งคาดว่าจะสามารถผลิตได้ 200,000 ชุดต่อเดือน จากเดิมที่ไม่มีบริษัทเอกชนผลิตได้ โดยเริ่มนำส่งชุดตรวจ 20,000 ชุดแรก ให้รัฐบาลเมื่อวันที่ 2 เม.ย. ที่ผ่านมา
คาดว่าน่าจะเพิ่มศักยภาพการตรวจผู้ติดเชื้อได้มากกว่า 200,000 คนภายในสิ้นเดือน เม.ย. นี้
สำหรับการตรวจแบบปูพรมนั้น ในความเห็นของ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประเทศไทยมีศักยภาพทำได้ แต่ควรทำในพื้นที่ที่มีการระบาดเยอะ ไม่ควรปูพรมทั้งประเทศ เพราะจะสิ้นเปลืองทรัพยากร
“เช่นในกรณีของสนามมวย เหมาะกับวิธีการตรวจแบบปูพรม แต่ต้องมีการจัดการ เช่น ถ้าต้องตรวจพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นพิเศษ ก็อาจสามารถระดมทรัพยากรจากแล็บในจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งได้” นพ.โอภาสให้ความเห็น
ผู้เขียน : ปริตตา หวังเกียรติ
- 90 views