กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชี้ตรวจโควิด-19 ให้ได้ผลแม่นยำและเร็วที่สุด ต้องตรวจหาเชื้อไวรัสโดยตรง จาก “สารพันธุกรรม” ชี้ข้อจำกัดชุดตรวจ Rapid Test ต้องรอ 5-10 วันหลังรับเชื้อกว่าภูมิคุ้มกันจะขึ้น ทำให้ผลตรวจในระยะต้นหลังเสี่ยงอาจเป็น “ลบ" ระบุการตรวจแบบ “ไดร์ฟทรู” เกี่ยวข้องกฎหมายหลายส่วน โดยเฉพาะ พ.ร.บ.เชื้อโรค เน้นจุดสำคัญที่การขนส่งตัวอย่าง ต้องถูกต้องและถูกวิธีเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในเวทีเสวนาสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 เรื่อง การเก็บตัวอย่าง / ชุดตรวจ Rapid Test / การพัฒนาศักยภาพขยายแล็บภูมิภาค นพ.โอภาส อธิบายว่าขั้นตอนการตรวจในห้องปฏิบัติการ เริ่มจากเจ้าหน้าที่ซักประวัติ ตรวจร่างกายเบื้องต้น และตรวจทางห้องปฏิบัติการซึ่งมีวิธีการเก็บตัวอย่างเชื้อที่แตกต่างกันไป ซึ่งก่อนทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการ สิ่งแรกที่ต้องรู้ก่อนคือธรรมชาติของการเกิดโรค โดยต้องรู้ว่ากระบวนการเกิดโรคนั้นเกิดจากอะไร กรณีโรคโควิด-19 ต้องไล่ย้อนเริ่มจากวันที่รับเชื้อไปจนถึงวันที่เริ่มมีอาการ โดยในช่วงเวลานี้เรียกว่าระยะฟักตัวของโรค เป็นช่วงที่ไม่มีอาการแต่เชื้อกำลังแบ่งตัวในร่างกาย จนถึงขณะหนึ่งที่ร่างกายสู้ไม่ไหวจึงแสดงอาการออกมา เมื่อเริ่มมีอาการผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะหายเองได้ แต่บางรายอาจโชคร้ายถึงขั้นเสียชีวิตโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ กระบวนการเหล่านี้เป็นธรรมชาติของการเกิดโรคโควิด-19
สำหรับวิธีการตรวจในห้องปฏิบัติการนั้น หลักๆ มีอยู่ 2 อย่าง คือ 1. ตรวจหาเชื้อไวรัสโดยตรง ซึ่งขณะนี้วิธีการตรวจที่ไวที่สุดคือ “การตรวจสารพันธุกรรม” (RT PCR) เป็นวิธีการหลักในการวินิจฉัยในปัจจุบัน และเป็นวิธีการที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ เพราะตรวจแล้วยืนยันผลได้ไวที่สุด สามารถตรวจหาเชื้อได้ตั้งแต่เริ่มมีอาการน้อยๆ ซึ่งเคสในประเทศไทยที่ขณะมีอยู่ 1,000 กว่าราย ใช้วิธีการนี้ตรวจทั้งสิ้น โดยปัจจุบันทั่วประเทศมีห้องปฏิบัติการ ที่สามารถตรวจวิธีการนี้ทั้งสิ้น 44 แห่ง แบ่งเป็นของภาครัฐ 39 แห่ง และเอกชน 5 แห่ง โดยศักยภาพการตรวจในพื้นที่ กทม. อยู่ที่ 10,000 ตัวอย่าง/วัน ขณะที่ต่างจังหวัดก็อยู่ที่ 10,000 ตัวอย่างต่อวัน หรือ 835 ตัวอย่าง/เขตสุขภาพ รองรับตามการประเมินว่า ณ วันที่ 15 เม.ย. นี้ จะมีผู้ติดเชื้อในประเทศ 3 แสนราย ส่วนน้ำยาสำหรับตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตอนนี้มีอยู่ 5 หมื่นเทส (26 มี.ค. 2562) ยังไม่รวมของ รพ.รามาฯ รพ.จุฬาฯ รพ.ศิริราช และภาคเอกชน คร่าวๆ รวมแล้วไม่น่าต่ำกว่า 1 แสนเทส และกำลังสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มเติมจากประเทศจีน
และ 2. ตรวจโดยชุดตรวจ Rapid Test ซึ่งเป็นประเด็นที่คนสงสัยมาก แปลตรงตัวคือการตรวจแบบเร็ว บางแห่งใช้เวลา 5 นาที หรือ 15 นาที โดยชุดตรวจ Rapid Test ที่เป็นข่าวตอนนี้ คือ “การตรวจหาภูมิคุ้มกัน” เมื่อร่างกายได้รับเชื้อเข้าไป จะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อสู้กับเชื้อโรค ซึ่งจะใช้เวลาหลังจากรับเชื้อประมาณ 5 - 7 วัน ฉะนั้น การตรวจแบบนี้จะได้ผลเป็นบวกหรือลบ ต้องตรวจหลังรับเชื้อ 5 -10 วันขึ้นไป กว่าจะรู้ผลยืนยันว่าติดเชื้อหรือไม่ต้องใช้เวลากว่า 10 วัน ที่สำคัญหากไปตรวจหลังเสี่ยงรับเชื้อวันที่ 1 หรือ 3 เมื่อได้ผลเป็นลบก็ยังยืนยันไม่ได้ว่าติดเชื้อหรือไม่ ดังนั้น การตรวจด้วยอุปกรณ์นี้ช่วงเวลาการตรวจจึงมีความสำคัญ ส่วนที่เร็วคือขั้นตอนการตรวจใช้เวลาแค่ 5 นาทีเสร็จ แต่ในแง่ของการวินิจฉัยโรคถือว่าช้า จึงกล่าวได้ว่า “เร็วตอนตรวจแต่วินิจฉัยโรคได้ช้า”
“เมื่อมีวิธีการตรวจใหม่ๆ สิ่งที่ต้องคิดเสมอ คือวิธีการตรวจเหล่านั้นได้ผล มีความเที่ยงตรงแม่นยำ และได้มาตรฐานหรือไม่ จากข่าวที่ปรากฎจะเห็นว่ามีวิธีการมากมาย ขณะนี้บางแห่งมีการพัฒนาหรือกำลังพัฒนาวิธีตรวจ แต่ต้องคำนึงต่อไปพร้อมกับประเมินว่า สามารถใช้ได้จริงหรือไม่ด้วย เพราะการตรวจแต่ละวิธีนั้น มีขั้นตอนที่ต้องทำให้เหมาะสมกับสถานการณ์และช่วงเวลาใด เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการวินิจฉัยโรค” นพ.โอภาส กล่าว
ด้าน นพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กล่าวเสริมถึงกรณีการตรวจแบบไดร์ฟทรู (Drive-thru) ระบุว่า เป็นการดำเนินการในลักษณะรถโมบายเคลื่อนที่หาผู้ป่วย ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับ พ.ร.บ.สถานพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับรถโมบายเคลื่อนที่ โดยในกรณีของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เกี่ยวข้องในส่วนของตัวบุคคลที่เป็นผู้เก็บตัวอย่าง จะขึ้นกับ พ.ร.บ.วิชาชีพเทคนิคการแพทย์ ซึ่งอนุญาตให้ทำได้เฉพาะบุคคลที่ผ่านการฝึกอบรม หรือมีใบประกอบวิชาชีพแล้วเท่านั้น ขณะเดียวกันยังเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.เชื้อโรค ซึ่งเน้นไปตรงจุดสำคัญที่การขนส่งตัวอย่างอย่างถูกต้องถูกวิธีเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ซึ่งในกรณีของหมอแล็บแพนด้าที่จะมีการไปเก็บตัวอย่างถึงบ้านนั้น สามารถทำได้ตามวิชาชีพเป็นลักษณะการเก็บสิ่งส่งตรวจไปยังห้องปฏิบัติการ แต่จะถูกต้องตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาลหรือไม่ต้องตรวจสอบกันอีกที ส่วนที่มีข่าวว่าขณะนี้หลายคนไปหาซื้อชุดตรวจมาตรวจเอง ส่วนใหญ่จะเป็นวิธีเจาะเลือดปลายนิ้วหรือจากเส้นเลือดดำนั้น สิ่งสำคัญคือต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการแปรผลตรวจต้องเป็นแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ดังนั้น จึงไม่สามารถสรุปผลว่าติดหรือไม่ติดได้ด้วยตนเอง
- 579 views