ทพ.ธีรวัฒน์ ทัศนภิรมย์ คณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความเห็นว่าทันตแพทย์เป็นภาคส่วนสำคัญที่สามารถช่วยลดการระบาดของโควิด-19 โดย “ลดบริการทันตกรรมให้น้อยที่สุด” ในช่วงที่ยังการระบาดของโรค
“ในทางกฎหมาย ยังไม่มีคำสั่งประกาศให้คลีนิกทำฟันลด ส่วนคำสั่งปิดสถานที่ก็ยังไม่ครอบคลุมสถานพยาบาล จึงขึ้นอยู่กับ Judgement (การตัดสินใจ) ของเจ้าของคลีนิกทำฟัน” ทพ.ธีรวัฒน์ กล่าว
“การลดไม่ได้แปลว่าต้องปิดคลินิก แต่ให้เลื่อนบริการที่ไม่ฉุกเฉินไปก่อน ซึ่งเป็นการเสริมมาตรการ Social Distance ให้มีประสิทธิภาพ เราควรป้องกันมากที่สุดเท่าที่จะทำได้”
เมื่อเร็วๆ นี้ American Dental Association หรือ ADA ได้ขอความร่วมมือให้ทันตแพทย์ในสหรัฐอเมริกาเลื่อนกรณีการรักษาที่ไม่เร่งด่วนออกไปเป็นเวลา 3 สัปดาห์ เพื่อช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 โดยให้ทำการรักษาใน “กรณีฉุกเฉิน” เท่านั้น
ทพ.ธีรวัฒน์ อธิบายว่ากรณีฉุกเฉิน ADA นิยามว่าคือ กรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะที่เสี่ยงต่อชีวิต ซึ่งทันตแพทย์ต้องหยุดการไหลของเลือดในทันที หรือ ต้องบรรเทาอาการเจ็บปวดหรือติดเชื้อที่รุนแรงในทันที เช่น ปวดฟัน เป็นหนอง และอาการบาดเจ็บ หรือฟันที่มีอาการบาดเจ็บ (Dental trauma)
“งานบริการทันตกรรมบางประเภทมีละอองฟุ้งกระจาย คือ ต้องมีการกรอฟันจนเกิดละอองน้ำในระหว่างการรักษา แม้ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าการฟุ้งกระจายทำให้คนติดเชื้อโควิด-19 ได้หรือไม่ แต่ก็มีความเสี่ยง ควรเลื่อนไปก่อนดีกว่า”
“เบื้องต้น เห็นว่าน่าจะเลื่อนไปก่อน 2 อาทิตย์ แล้วค่อยประเมินสถานการณ์อีกครั้ง แต่ก็เป็นไปได้มากที่จะชะลอไปถึง 1 เดือน ถ้าเข้าสู่เฟส 3 อาจต้องงดงานเร่งด่วนบางประเภทเพิ่มเติม”
ในวันที่ 22 มี.ค. ที่ผ่านมา ทันตแพทยสภา ราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทย และองค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่แนวทางปฏิบัติเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด 19
โดยขอความร่วมมือให้สถานพยาบาลที่มีศักยภาพสูงในการให้บริการ ทำหัตถการตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยต้องมีการจัดการกับละอองฟุ้งกระจายอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมมีอุปกรณ์ป้องกันเพื่อมิให้เกิดการส่งต่อเชื้อระหว่างผู้รับบริการ ในส่วนของสถานพยาบาลแบบทั่วไป ควรให้บริการในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น
ขณะที่ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย ขอความร่วมมือมายังประชาชนให้เลื่อนการทำฟันที่ยังไม่เร่งด่วน เช่น ขูดหินปูน อุดฟัน ผ่าฟันคุด และทำฟันปลอม เป็นต้น
ในกรณีที่อาจมีผู้ป่วยตกค้างสะสมจากการชะลอการรักษาไปก่อนนั้น ทพ.ธีรวัฒน์เห็นว่าเมื่อเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว แน่นอนว่าทันตแพทย์ต้องทำงานเยอะขึ้น เพราะงานทันตกรรมทำได้ค่อนข้างจำกัดในหนึ่งวัน การจัดการกรณีผู้ป่วยตกค้างอาจต้องใช้เวลาพอสมควร
“แต่ก็มีโอกาสที่ดี หากกระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนให้ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมงานกัน ทำแคมเปญช่วยเคลียร์คนไข้เมื่อเข้าสู่สภาวะปกติ ถ้าเอกชนช่วยได้ก็เป็นเรื่องดี” ทพ.ธีรวัฒน์ ให้ความเห็น
- 162 views