สถาบันวิทยสิริเมธี ศิริราช ปตท. พัฒนาชุดตรวจไวรัสโคโรนา 2019 รู้ผลเร็ว 30-45 นาที ต้นทุนถูก 475 บาท ใช้อุปกรณ์ในไทยทั้งหมด ช่วยให้ไทยรับมือกับการระบาดของไวรัสระยะที่ 3 ได้ดียิ่งขึ้น พร้อมเร่งผลิตชุดทดสอบ ขณะนี้มีสต็อคชุดตรวจประมาณ 10,000 ชุด และสามารถผลิตออกมาได้วันละ 4,000 ชุดต่อวัน
เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 นายจำรัส ลิ้มตระกูล อธิการบดีสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) ร่วมแถลงว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทั่วโลกในขณะนี้ ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะคลี่คลายในเร็ววัน สถาบันวิทยสิริเมธี จึงได้ใช้ศักยภาพและองค์ความรู้ของบุคลากรสถาบันฯ เร่งพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโควิด-19 ให้สามารถตรวจโรคได้ภายใน 30-45 นาที รวดเร็วกว่าวิธีการตรวจในปัจจุบันที่ใช้เวลา 4-6 ชั่วโมงในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ โดยการสนับสนุนงบประมาณการวิจัยจากกลุ่ม ปตท. และ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)
นอกจากนั้น ยังได้รับความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีจาก สถาบัน Broad Institute, Massachusetts Institute of Technology and Harvard, USA และความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี
ทั้งนี้ จะเร่งพัฒนาทดสอบความแม่นยำ ตลอดจนพัฒนารูปแบบให้ง่ายต่อการใช้งาน ช่วยลดระยะเวลาการวินิจฉัยโรค ด้วยต้นทุนต่ำ ทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย สนับสนุนให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้
ด้าน นายชยสิทธิ์ อุตมาภินันท์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี กล่าวว่า สถาบันฯ ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ภาควิชาจุลชีววิทยา เริ่มทดลองกับตัวอย่างจากคลินิกแล้ว และอยู่ระหว่างการเตรียมแผนผลิตชุดทดสอบเพิ่มเติมเพื่อดำเนินการในขั้นตอน Clinical Trial ในเดือนเมษายนนี้
"ขณะนี้มีสต็อคชุดตรวจประมาณ 10,000 ชุด และสามารถผลิตออกมาได้วันละ 4,000 ชุดต่อวัน แต่ต้องรอการประกาศยืนยันผลการทดสอบการใช้ และการยืนยันจาก รพ.ศิริราชอีกครั้ง หากได้รับการประกาศใช้แล้ว เชื่อว่า จะสามารถเร่งผลิตออกมาใช้ได้ต่อไป"
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร นายกสภาสถาบันวิทยสิริเมธี กล่าวว่า สถาบันฯ ขอขอบคุณ กลุ่ม ปตท.และธนาคารไทยพาณิชย์ ผู้สนับสนุนงบประมาณ รวมทั้งโครงการ ExpresSo ซึ่งเป็นหน่วยงานนวัตกรรม ของ ปตท. ที่สนับสนุนบุคลากรเข้าร่วมดำเนินการเพื่อเตรียมแนวทางในการขยายชุดทดสอบไปยังโรงพยาบาลในภาคีเครือข่ายอย่างเร่งด่วน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าชุดตรวจโรคดังกล่าวจะเพิ่มความรวดเร็วในการวินิจฉัยเชื้อไวรัสนี้ของหน่วยงานสาธารณสุขและโรงพยาบาลในประเทศไทยได้อย่างทันท่วงที และทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลงในเร็ววัน
สำหรับชุดตรวจ COVID-19 ใช้เทคนิค CRISPR Diagnostic เพื่อลดเวลาที่ต้องใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรค ซึ่งปัจจุบันต้องทำในห้องปฎิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ใช้เวลานาน ให้สามารถตรวจวินิจฉัยได้รวดเร็วแม่นยำยิ่งขึ้น และ ต้นทุนในการตรวจต่ำที่สุด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยโรคนี้ของหน่วยงานสาธารณสุขและโรงพยาบาลในประเทศไทย ซึ่งสถาบันวิทยสิริเมธี เร่งพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัย COVID-19 โดยความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีจาก สถาบัน Broad Institute, Massachusetts Institute of Technology and Harvard, USA และความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี ในการวิจัยเพื่อพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้สามารถตรวจโรคได้ภายใน 30 – 45 นาที ซึ่งรวดเร็วกว่าวิธีการตรวจในปัจจุบันที่ใช้เวลา 4 – 6 ชั่วโมงในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ โดยการสนับสนุนงบประมาณการวิจัยจาก กลุ่ม ปตท. และ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)
ทั้งนี้ ผลการผลิตและทดสอบชุดตรวจวินิจฉัย COVID 19 ในห้องปฏิบัติการ โดยคณะนักวิจัยของ VISTEC ได้ผลดังนี้
1.ลอง VISTEC Test Kit Diagnostics เพื่อตรวจจับไวรัส COVID 19 ได้ผลดีมาก การตรวจวินิจฉัยรวดเร็วเหมือนการทดสอบหญิงตั้งครรภ์
2.วันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม 2563 มีการทดสอบ โดยการใช้เชื้อไวรัส COVID 19 ของจริง ที่ รพ.ศิริราช
3. ต้นทุนค่าใช้จ่าย ในการจัดทำชุดอุปกรณ์ตรวจวัดทุกอย่าง ในเมืองไทยประมาณ 15 US$ (ประมาณ 475 บาท)
กล่าวโดยสรุป
1. VISTEC สามารถใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ผลิตชุดตรวจจับไวรัส COVID 19 ได้สำเร็จในเวลาอันสั้น เป็นคณะแรกๆของโลก
2. ชุดตรวจวัดนี้ เมื่อผลิตเป็นจำนวนมาก จะช่วยให้ไทยรับมือกับการระบาดของไวรัสระยะที่ 3 ได้ดียิ่งขึ้น เพราะ มีราคาถูกมาก ใช้เวลาตรวจสั้น มีความไวสูง และ ผลิตได้เองภายในประเทศ
3. VISTEC/ปตท. พร้อมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยี ให้กับหน่วยงานของรัฐนำไปผลิตเป็นชุดตรวจในปริมาณมากๆ
- 200 views