ถือเป็นวาระระดับโลก สำหรับการประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ซึ่งจัดขี้นทุกปีในช่วงปลายเดือน ม.ค. ที่ประเทศไทย โดยในปีนี้ บัน คี มูน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานกลุ่ม The Elders องค์กรระหว่างประเทศระดับโลก ได้เดินทางมาเป็นองค์ปาฐก ในการเปิดงาน เมื่อวันที่ 31 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยปีนี้ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Accelerating Progress Towards UHC” หรือ “เร่ง ‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ ให้เกิดขึ้นจริง
บัน กล่าวในปาฐกถาว่า ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา การประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ได้กระตุ้นให้ทั่วโลก “ตื่นตัว” กับการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาตลอด โดยในปีนี้ การประชุม ได้เริ่มต้นพอดิบพอดีกับการระบาดของโรคโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่กลายเป็น “ความกังวล” ของนานาชาติ
อย่างไรก็ตาม โรคนี้ ไม่ต่างอะไรกับโรคซาร์ส และโรคไข้หวัดนก H5N1 ที่เคยเป็นโรคระบาดเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ซึ่งการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และระบบสุขภาพที่ยืดหยุ่น จะสามารถปกป้องพลเมืองในประเทศได้ดี ไม่ว่าจะมี “ภูมิหลัง” อย่างไร หรือมี “รายได้” เท่าไหร่
“การเอาชนะโคโรนาไวรัส 2019 จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อทุกประเทศร่วมมือกัน ภายใต้ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ต่างอะไรกับการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ต้องการความร่วมมือของนานาชาติเช่นกัน” อดีตเลขาธิการสหประชาชาติระบุ
บัน บอกอีกว่า ในห้วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกให้คำมั่นถึง 3 ครั้ง กับสหประชาชาติว่าจะทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภายใต้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ให้เกิดขึ้นได้จริง โดยครั้งล่าสุดเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือน ก.ย. 2562
การประชุมครั้งนั้น รัฐบาลทั่วโลก ต่างก็ตั้งเป้าหมายว่า ประเทศของตนเอง จะสามารถสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ภายในปี 2573 และจะมีความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการ “ปฏิรูป” ระบบสุขภาพของประเทศตัวเอง
อย่างไรก็ตาม บันบอกว่า การให้คำมั่น หรือแม้แต่การ “ลงนาม” ว่าจะทำ นั้น ไม่เพียงพอ เพราะล่าสุด องค์การอนามัยโลก และธนาคารโลก เพิ่งสะท้อนตัวเลขล่าสุดว่า จำนวนเม็ดเงินที่ประชากรทั่วโลกต้องจ่ายเพื่อรักษาพยาบาลนั้น ยังคงสูงขึ้นเรื่อย ๆ
นั่นหมายความว่าจะมีคนจำนวนมากทั่วโลกที่ต้อง “ยากจน” และล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล ซึ่งก็แปลได้เช่นเดียวกันว่า รัฐบาลหลายประเทศเอง ไม่ได้บริหารจัดการ เพื่อให้ไปถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างถูกวิธี
การ “ไปไม่ถึง” ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ยังส่งผลกระทบกับ “ความมั่นคง” ด้านสุขภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวอย่างที่สำคัญก็คือ คนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงยาจำเป็น เพราะยามีราคาแพงเกินไป และหลายครั้งก็ใช้ยาไม่ต่อเนื่องจนเกิด “เชื้อดื้อยา” ระบาดอย่างแพร่หลาย
ขณะเดียวกัน การเติบโตของ “ภาคเอกชน” ในระบบสุขภาพ ก็ขัดขวางไม่ให้เป้าหมาย SDGs ของสหประชาชาติ ในเรื่องการกำจัดความยากจน การต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำ และการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ ไปต่อได้เช่นกัน
“เพื่อจะไปให้ถึงเป้าหมาย แต่ละประเทศต้องลงทุนจำนวนมากในระบบสุขภาพ และสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระดับนโยบายเพื่อให้คนยากจน และประชากรกลุ่มเปราะบาง เข้าถึงการบริการสาธารณสุขที่จำเป็น ข่าวดีก็คือ มีประเทศที่ประสบความสำเร็จหลายประเทศให้ได้เรียนรู้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือประเทศไทย” อดีตเลขาธิการยูเอ็นระบุ
บันระบุในปาฐกถาอีกว่า โกรฮาเล็ม บรันด์ลันด์ อดีตนายกรัฐมนตรีนอร์เวย์ และอดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก เคยพูดกับเขาก่อนหน้านี้ว่า ในอดีต องค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงประเทศตะวันตกหลายประเทศ “ขัดขวาง” การลงทุนด้านสาธารณสุข และปล่อยให้ภาคเอกชน ประกันสุขภาพเอกชน เติบโตแทน แต่ในขณะนี้ กระแสทั่วโลกได้เปลี่ยนไป ทุกองค์กรระหว่างประเทศ ทุกสถาบันทางการเงินระดับโลก ล้วน “ปรับตัว” ไปสู่การสนับสนุนให้รัฐบาลฟังเสียงของประชาชนตัวเองแทน ผ่านการลงทุนในระบบสุขภาพ และสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
“นั่นเป็นหนทางเดียว ที่จะทำให้ประเทศพวกเขาแข็งแรง คนจนและคนรวย ได้เข้าถึงบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียมกัน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” บันกล่าว
ทั้งนี้ การ “เปลี่ยนผ่าน” ระบบสุขภาพจากระบบที่ประชาชนต้องจ่ายเงินเอง ไปสู่ระบบที่ใช้งบประมาณรัฐบาลเป็น “ตัวนำ” นั้น ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านสำคัญที่จะนำไปสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ในหลายประเทศ ก็ผ่านจุดนี้มาได้แล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ประเทศของบัน เริ่มระบบนี้ในปี 2520 อังกฤษ เริ่มต้นในปี 2491 และ ญี่ปุ่น เริ่มต้นในปี 2504
“แต่ความสำเร็จที่น่าประทับใจที่สุด คงหนีไม่พ้นประเทศไทย ซึ่งเริ่มต้นระบบนี้ขึ้นเมื่อปี 2545 ไม่นาน หลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจทั่วทวีปเอเชีย ไทยเริ่มต้นระบบนี้ ทั้งที่ในเวลานั้น ธนาคารโลกเคยเตือนไว้ว่าไทยจะไม่สามารถ ‘แบก’ งบประมาณด้านสาธารณสุขให้ครอบคลุมประชากรทุกคนได้”
“แต่จิม ยอง คิม อดีตประธานธนาคารโลก เคยพูดไว้ว่า รัฐบาลไทยฉลาดกว่า ในการปฏิเสธคำแนะนำของธนาคารโลก และหลังจากนั้นภายใน 1 ปี ก็อัดฉีดเงิน มากกว่าครึ่ง % ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ หรือจีดีพีในปีนั้น เข้าไปสู่ระบบสาธารณสุข ผลก็คือคนไทยทั่วประเทศ สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขอย่างเท่าเทียม และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก็ครอบคลุมคนไทยเกือบทั้งประเทศทันที” บันระบุ
เขาบอกอีกว่า ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาตินั้น มีหลายคนเล่าเรื่องความสำเร็จของไทย เพื่อเป็นตัวอย่างว่า การจะปฏิรูประบบสุขภาพนั้น ไม่สำคัญว่าคุณมีจีดีพีมากขนาดไหน..
“สิ่งที่ไทย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอังกฤษ ทำได้สำเร็จตรงกันก็คือ หากสามารถปฏิรูปเพื่อสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ถูกทาง สิ่งนี้จะกลายเป็นอัตลักษณ์สำคัญของประเทศ และไม่ว่าจะเปลี่ยนกี่รัฐบาล ความสำเร็จนี้ ก็ยังคงอยู่” อดีตเลขาธิการยูเอ็นกล่าว
นอกจากนี้ บันยังชวนให้ประเทศที่ประสบความสำเร็จแล้ว ช่วยประเทศที่กำลังเดินหน้าสู่ช่วง “เปลี่ยนผ่าน” สร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของตัวเอง โดยเฉพาะประเทศที่ยังอัดงบประมาณลงไปยังระบบสุขภาพไม่ถึง 1% ของจีดีพี
เขาให้ความเห็นว่า ประเทศเหล่านี้ ควรจะเพิ่มการลงทุนด้านสาธารณสุขอย่างน้อย 2-3% ในทศวรรษหน้า รวมถึงสร้างชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยให้ความสำคัญกับระบบสุขภาพปฐมภูมิ และที่สำคัญคือไม่ควรมีการเรียกเก็บเงิน ณ จุดบริการ เพื่อเพิ่มการเข้าถึง
“ส่วนใหญ่ประเทศที่ใช้จ่ายด้านระบบสุขภาพไม่เพียงพอ จะอยู่ในกลุ่มประเทศแถบแอฟริกาเหนือ และประเทศแถบเอเชียใต้ อย่างไรก็ตาม บางประเทศในกลุ่มนี้ ก็มีพัฒนาการในการเพิ่มงบประมาณลงไปในระบบที่น่าพอใจ ไม่ว่าจะเป็นศรีลังกา หรือ รวันดา” บันระบุ
ขณะเดียวกัน สิ่งสำคัญอีกอย่างก็คือ ต้องทำหลักประกันสุขภาพ ให้เป็นเรื่อง “เจตจำนงทางการเมือง” ซึ่งทุกภาคส่วนเห็นพ้องกัน แบบที่ไทย กับจีน ทำมาก่อนหน้านี้ โดยหลักการที่จำเป็นก็คือ ต้อง “กระตุ้น” ให้บรรดาผู้นำทั่วโลกทั้งหลายเห็นประโยชน์ในการพัฒนาระบบสุขภาพ ซึ่งจะส่งผลบวกไปทั้งด้านสังคม และด้านเศรษฐกิจ
“เรื่องที่น่ายินดีก็คือ ผู้นำประเทศอย่าง อินโดนีเซีย อินเดีย แอฟริกาใต้ แทนซาเนีย หรือสหรัฐอเมริกา ต่างก็เห็นตรงกันว่าจะต้องส่งเสริมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้สำเร็จ” อดีตเลขาธิการยูเอ็นกล่าว
“ทุกครั้งที่มีโอกาส ผมจะบอกกับผู้นำทั่วโลกรุ่นใหม่ ๆ เสมอว่า คุณต้องทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้สำเร็จให้ได้ และเมื่อใดก็ตาม ที่คุณต้องการความช่วยเหลือ พวกเรา พร้อมจะสนับสนุนในทุกเรื่อง เพื่อทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เกิดขึ้นจริง”
หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สามารถพัฒนาประเทศได้ในหลายทิศทาง อย่างที่ เนลสัน แมนเดลา อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ และผู้ก่อตั้งองค์กร The Elders เคยพูดไว้ว่า “เรื่องสุขภาพ ไม่ควรถูกตั้งคำถามเรื่องเงิน เพราะแท้จริงแล้วคือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน”
เพราะฉะนั้น ในปีนี้ ปีที่เริ่มต้นทศวรรษใหม่ จึงเป็นโอกาสอันดี ในการทำวิสัยทัศน์เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้เป็นจริง
“ขอเพียงแค่จับมือกัน เพื่อทำให้โลกนี้มีสุขภาพที่ดีขึ้น และแข็งแรงมากยิ่งขึ้น” อดีตเลขาธิการสหประชาชาติกล่าวทิ้งท้าย
- 54 views